เป็นผู้นำในการบริหารประเทศ ย่างเข้าเดือนที่ 10 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน อาจเพิ่งจะนึกขึ้นได้ว่ามีคนไทยที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรถึง 40% จึงลุกขึ้นมาจับมือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ เปิดประชุม “จุดประกายประเทศไทย” ด้วยการสัญญาจะเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ภายใน 4 ปี

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเป็น “เซลส์แมน” เดินทางไปมาแล้วเกือบ 20 ประเทศ เพื่อชักชวนนานาชาติให้มาลงทุน และค้าขายกับประเทศไทย เพิ่งจะพูดถึงภาคเกษตรจริงจังเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 พ.ค. โดยบอกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเยอะมาก และคุยว่าราคายางวันนี้ไม่ใช่ 3 กก. 100 แต่ กก.ละ 100

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกษตรฯ ร่วมกันจุดประกายให้การเกษตรไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก ผ่านการขับเคลื่อน 2 มาตรการ คือ มาตรการสร้างภูมิคุ้มกัน และความยั่งยืน และมาตรการยกระดับราคาสินค้า ไม่ทราบว่าคนทั่วไปจะโวยหรือไม่ ถ้าสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าวปลาอาหาร ยกขบวนขึ้นราคา

ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มาตั้งแต่โบราณกาล ตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ถึงแม้จะเป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” มาหลายทศวรรษ แต่คนกลุ่มใหญ่ยังเป็นชาวนาที่ตกอยู่ในชะตากรรม “ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีได้แต่หนี้กับซัง”

ผลการสำรวจของหน่วยงานภาครัฐ พบว่ามีเกษตรกรกว่า 11% มีรายได้ใต้เส้นความยากจน สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ วิจัยพบว่าชาวนาไทยเป็นหนี้สินล้นพ้น มีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 450,000 บาท และ 57% เป็นหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ เพราะมีรายได้ต่ำ มาตรการแก้ไขของรัฐ จึงมุ่งยกระดับราคาสินค้าเกษตร

...

ข้าวจึงกลายเป็น “พืชการเมือง” ที่พรรคการเมืองนำมาใช้หาเสียง บางพรรคชูคำขวัญ “ทุกข์ชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน” พรรคการเมืองและนักการเมืองส่วนใหญ่ มักจะหาเสียงด้วยคำสัญญา จะพยุงราคาข้าวหรือประกันราคาข้าว แต่ที่โด่งดังที่สุด และสร้างความเสียหายมากที่สุด ทั้งแก่ประเทศและเจ้าของนโยบายคือการรับจำนำข้าว

รัฐบาลปัจจุบันให้สัญญา จะเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ใน 4 ปี และจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางข้าวและอาหารของโลก ก็เป็นเพียงสัญญาการเมือง ไม่มีใครมั่นใจว่าจะ “ทำได้” หรือไม่ ไทยเคยเป็นผู้ส่งข้าวออกมากที่สุดในโลก ทั้งยังเคยมีข้าวหอมมะลิที่ชาวโลกยอมรับ แต่ปัญหาเร่งด่วนสุดคือต้องปลดทุกข์ให้ชาวนา.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม