“อ้วน ภูมิธรรม” รับนโยบายนายกรัฐมนตรี กำหนดมาตรการบริหารจัดการพืชเศรษฐกิจตัวรองของประเทศผ่าน 8 กลไกหลัก เดินหน้าเพิ่มรายได้เกษตรกร นำร่องดึงเครือข่ายเอกชนเข้ารับซื้อผลไม้ ผัก พืช 3 หัว รวมกว่า 3.13 แสนตัน
วันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้และพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ปี 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับข้อสั่งการจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการเชิงรุก ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ควบคู่ไปกับที่รัฐบาลได้ดูแลพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการดูแลพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการผ่าน 8 กลไก ได้แก่
1. การกระจายออกนอกแหล่งผลิต
2. การเชื่อมโยงต้นทาง-ปลายทาง
3. การทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า
...
4. การผลักดันส่งออก
5. การส่งเสริมการแปรรูป
6. การรณรงค์บริโภค
7. การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง
8. ความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตร
โดยภาครัฐจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรทั่วประเทศว่าจะได้รับการดูแลพืชเกษตรตัวรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ได้มีการนำร่องดูแลพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ได้แก่ ผลไม้ ผัก พืช 3 หัว (หอมใหญ่ กระเทียม หอมแดง) โดยจะร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนยักษ์ใหญ่กว่า 10 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 18 บริษัท เช่น กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ผู้ผลิตสินค้า ค้าปลีก-ค้าส่ง โรงแรม หมู่บ้าน-คอนโดมิเนียม ปั๊มน้ำมัน สายการบิน แพลตฟอร์ม อุตสาหกรรมแปรรูป-ส่งออก และนิคมอุตสาหกรรม มีความยินดีช่วยเชื่อมโยงรับซื้อผลผลิตพืชเกษตรตัวรองจากเกษตรกรในเบื้องต้น รวมปริมาณกว่า 313,000 ตัน เสริมเพิ่มเติมจากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการไว้ก่อนหน้าแล้ว 1.344 ล้านตัน รวมปริมาณทั้งสิ้น 1.657 ล้านตัน และยังมีภาคเอกชนรายใหญ่อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาช่วยเชื่อมโยงรับซื้อเพิ่มเติมอีกในอนาคต
ส่วนสินค้าผลไม้ จะมีการติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต และการตลาดผลไม้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลไม้ภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย ลองกอง ที่จะออกสู่ตลาดมากในระยะต่อไปกว่า 3 ล้านตัน โดยจะกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นตาม 8 กลไกที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะผลไม้ตัวรอง ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
นายภูมิธรรม เผยต่อไปว่า ปี 2567 ผลผลิตผลไม้ออกสู่ตลาดเกินกว่าครึ่งทางแล้ว พบว่าราคาดีทุกตัว ไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ เป็นผลจากที่รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย ร่วมกำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2567 ไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 รวมถึงการจัดคณะผู้บริหารระดับสูงเดินทางไปเจรจาเรื่องด่านกับรัฐบาลจีนในช่วงก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ส่งผลให้ภาคการส่งออกมีความคล่องตัว ไม่ติดขัด
ทั้งนี้ ในปี 2567 พืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง มีจำนวน 18 ชนิด คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 7.5 ล้านตัน แยกเป็น
ผลไม้ 11 ชนิด ได้แก่
1. ทุเรียน
2. มังคุด
3. เงาะ
4. ลองกอง
5. ลำไย
6. สับปะรด
7. ลิ้นจี่
8. ส้มโอ
9. ส้มเขียวหวาน
10. มะยงชิด
11. มะม่วง
ผัก 4 ชนิด ได้แก่
1. มะนาว
2. มะเขือเทศ
3. ฟักทอง
4. พริกขี้หนูจินดา
พืชสามหัว 3 ชนิด ได้แก่
1. หอมแดง
2. หอมหัวใหญ่
3. กระเทียม