รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม. มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการภาษี ท่องเที่ยว-อบรม-สัมมนาในประเทศ ลดหย่อนภาษีได้ เริ่ม 1 พ.ค.-30 พ.ย. 2567
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (4 มิถุนายน 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) คือระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 และผลกระทบจากปัญหาเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ทั้ง 2 มาตรการนี้จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจของไทย เพราะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงานอีกด้วย โดยทั้ง 2 มาตรการ มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-30 พฤศจิกายน 2567
มาตรการแรก “มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)”
กลุ่มเป้าหมาย - บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
สิทธิประโยชน์ทางภาษี - ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567-30 พฤศจิกายน 2567 โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น สำหรับค่าขนส่ง สามารถจ่ายให้ผู้ที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะต้องมีใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
...
รายละเอียดของการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้
1. หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
2. หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
3. ให้หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด
พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรอง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัด และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด หักรายจ่ายได้ 2 เท่า และพื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า
มาตรการที่สอง “มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)”
กลุ่มเป้าหมาย - ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สิทธิประโยชน์ทางภาษี - ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าบริการได้ ดังนี้
1. ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
2. ค่าที่พักในโรงแรม
3. ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย
4. ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น โดยพื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรองเท่านั้น
นางรัดเกล้า ระบุต่อไปว่า ทั้ง 2 มาตรการ จะรวมอยู่ในการดำเนินการออกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ กระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท ในขณะที่มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 581.25 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ขอให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในพื้นที่แต่ละเขต แต่ละจังหวัด ดูแลพื้นที่ตัวเองอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ประสานงานกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรองอย่างมีประสิทธิภาพ
“มาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”