“ตรีชฎา” โต้ “ศุภชัย” ปมกัญชา ยัน “สมศักดิ์” รมว.สาธารณสุข รับฟังทุกฝ่าย วิเคราะห์ผลดี-เสียรอบด้าน ซัด เสียมารยาททางการเมือง ยัน ทำตามนโยบายรัฐบาลที่ “เศรษฐา” แถลงไว้
วันที่ 3 มิถุนายน 2567 น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยถึงกรณีที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ออกมากล่าวหา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในลักษณะฟังความข้างเดียวจากกลุ่มองค์กรต่อต้านกัญชา เพื่อจะนำกัญชามาอยู่ในกลุ่มยาเสพติด ไม่ฟังความเห็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขนั้น
น.ส.ตรีชฎา ระบุว่า นายศุภชัย ไม่ควรออกมาทำให้สังคมเข้าใจผิด เพราะความจริง นายสมศักดิ์ รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน เพราะการที่สังคมจะเดินได้ต้องฟังเสียงรอบด้านของประชาชน เรื่องการนำกัญชาไปจำหน่ายและใช้เพื่อการเศรษฐกิจและสันทนาการ โดยไม่ถือเป็นยาเสพติดที่ดำเนินการกันมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เรื่องนี้เป็นข้อขัดแย้งมาตลอด เนื่องจากมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่แล้วก็เห็นไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่พรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้าของเรื่องนี้ พยายามจะออกกฎหมายมารองรับ แต่สุดท้ายกฎหมายไม่ผ่านสภา
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข รับฟังความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทั่งเห็นว่าการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิมมีน้ำหนักมากกว่า มีเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนและกระบวนการ นอกเหนือจากมีข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างหนักแน่น เชื่อถือได้มารองรับแล้ว การพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีหลายหน่วยงานเป็นองค์ประกอบ
...
ที่สำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีปลัดกระทรวงต่างๆ เลขาธิการและรองเลขาธิการ ป.ป.ส. เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด ผู้นำ 3 เหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีอีกหลายกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้ทรงคุณวุฒิ และฝ่ายเลขานุการรวม 36 คน โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดังกล่าวจะร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบทุกมิติ ทุกแง่ทุกมุม โดยคำนึงถึงประโยชน์และโทษ กรณีการเปิดให้กัญชาถูกนำไปปลูก นำไปขาย และเสพกันโดยไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด อย่างไหนเกิดผลดีหรือผลเสียมากน้อยกว่ากัน
นโยบายของรัฐบาลที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน นั่นคือ การระบุว่า “รัฐบาลจะดำเนินแนวทางนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ” ถือเป็นข้อผูกพันและผูกมัดรัฐบาลให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น อันจะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะกัญชามีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยเมื่อนำมาใช้การทางแพทย์อย่างถูกวิธี ซึ่งจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ปลูกและซื้อขายกันโดยทั่วไปได้อย่างอิสระเสรีดังที่ทำกันมา ซึ่งจะเกิดผลกระทบในทางลบต่อสังคม องค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อกกัญชาออกจากกลุ่มยาเสพติดก็ได้ออกมาให้ข้อมูลและต่อต้านมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายเศรษฐา เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเทเลวิชัน ที่ออกอากาศหลายประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 21 กันายน 2566 ขณะไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยนายเศรษฐา ให้คำมั่นว่า จะจำกัดการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้น และยังกล่าวด้วยว่า ภายในกรอบ 6 เดือน รัฐบาลจจะพยายามแก้ไขนโยบายกัญชาและการแพร่ขยายของร้านที่ขายกัญชาเสรี กฎหมายจะถูกเขียนขึ้นใหม่
“จากนโยบายรัฐบาลและจุดยืนที่ท่านนายกฯ เศรษฐา ได้ประกาศไว้ทั้งต่อรัฐสภา ประชาชนคนไทย และชาวโลก ที่ได้รับรู้เรื่องนี้ ถือเป็นสัญญาประชาชนที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเคารพ การดำเนินการของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะดึงกัญชาไปอยู่ประเภทยาเสพติด และจัดระเบียบการกำกับดูแล ควบคุมกัญชาให้อยู่ในกรอบที่จะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุชภาพ ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ และไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจการค้าการขายที่เกิดกันอยู่โดยทั่วไป จึงไม่ได้คิดขึ้นเอง และไม่ได้ทำไปตามใจชอบ หากนายสมศักดิ์ไม่ทำเช่นนี้ ก็เท่ากับบริหารราชการกระทรวงสาธารณสุขกรณีกัญชาขัดกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อรัฐบาลโดยภาพรวมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ข้อกล่าวหาของ นายศุภชัย ไม่เพียงแต่จะผิดมารยาททางการเมือง ยังเป็นการสร้างเรื่อง สร้างประเด็นให้เกิดความสับสนในสังคม และจะนำมาซึ่งข้อขัดแย้งในหมู่ประชาชนโดยไม่จำเป็น”