ผู้ที่ติดตามข่าวการประชุมของ “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ที่หวังว่าจะมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ฟู่ฟ่า ต้องผิดหวังไปตามๆกัน แม้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลังคนใหม่ จะสัญญาว่าจะมีทั้งมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายพิชัยยอมรับว่ากำลังผลิตอุตสาหกรรมของประเทศขณะนี้ อยู่ที่ 57.37% เห็นได้ชัดว่าเหตุผลสำคัญของการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสแรกของปี 2567 โตแค่ 1.5% เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอาเซียนเกือบทุกประเทศ มีดีตรงไหนจึงลํ้าหน้าประเทศไทย

นักเศรษฐศาสตร์บางท่านวิจารณ์ว่า มาตรการที่ออกมาเป็นการบริหารราชการตามปกติ เป็นมาตรการธรรมดา แต่จะแก้ปัญหาใหญ่ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล ต่างขาดความกล้าที่จะแก้ปัญหา ด้วยการคิดนอกกรอบ ต้องแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องไม่ใช้มาตรการเต่าล้านปี

นักวิชาการท่านนี้ระบุว่าปัญหาสำคัญของประเทศขณะนี้ คือ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นเป็น 91.3% ในปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่ระดับเศรษฐกิจปานกลาง หนี้ครัวเรือนไม่ควรเกิน 40-45% ต่อจีดีพี แต่หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นเป็น 62.2% ตั้งแต่ปี 2554 ปีที่รัฐบาลประกาศนโยบายประชานิยม “รถคันแรก”

รัฐบาลปัจจุบันซึ่งเข้ารับตำแหน่ง เมื่อปี 2567 จึงต้องรับสืบทอดปัญหาหนี้และแก้ปัญหาไปตามมีตามเกิด ด้วยมาตรการที่เรียกกันว่า เป็นแค่ยาแก้ปวด กินแล้วอาจหายปวดชั่วคราว แต่กลับมาปวดใหม่ และอาจยํ่าแย่กว่าเดิม ขณะเดียวกันมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังลูกผีลูกคน

เช่นเดียวกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า เป็นวันละ 400 บาท พร้อมกันทั้งประเทศ ก็ยังมีปัญหา ถูกคัดค้านจากองค์การฝ่ายนายจ้างทั่วประเทศ โดยอ้างภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีฉายา “เซลส์แมน” ไปมาแล้วเกือบ 20 ประเทศ อ้างว่าประสบความสำเร็จในการเจรจาลงทุนและการค้า

...

นายกรัฐมนตรีมีแผนจะเดินทางเยือนนานาชาติอีกในปี 2567 นี้ เป้าหมายสำคัญอาจจะเป็นอินเดียและทวีปแอฟริกา เพื่อเสนอขายข้าว 10 ปีใช่หรือไม่ เช่นเดียวกับการเยือนเมืองแฟชั่นระดับโลก ที่อิตาลีกับฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีก็แต่งชุดผ้าขาวม้าออกไปเดินโชว์ตามท้องถนน อาจถือว่าเป็นความสำเร็จในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม