"พชร" ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ร่วมทดสอบระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม Starlink ของ SpaceX เป็นทางเลือกใหม่ มั่นใจ จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสู่ระบบ 6G


วันที่ 29 พ.ค. นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้งานดาวเทียม Starlink เพื่องานกู้ภัยและระบบโทรคมนาคมสาธารณสุข ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยระบุว่า ดาวเทียมดังกล่าวใช้เชื่อมต่อเรือลำเลียงเสบียงของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท SC Group เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่นอกเขตบริการจากเสาสัญญาณโทรคมนาคม สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ พร้อมกันนั้นยังได้ทดลองการให้บริการทางการแพทย์แก่ลูกเรือและพนักงานประจำเรือระหว่างปฏิบัติการอีกด้วย

โดยระหว่างร่วมทดสอบสัญญาณนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำอุปกรณ์การสอดใช้คลื่นและการแทรกหรือรบกวนของคลื่น ระหว่างคลื่น 3.5 ghz กับคลื่น Ku/Ka ของดาวเทียม Starlink ซึ่งพบว่าไม่มีการรบกวนแต่อย่างใด และการทดสอบ การ Download / Upload speed มีมาตรฐานที่เหนือกว่า LTE และความเร็วเทียบเท่ากับ broadband internet ขาดเพียงการทดสอบ Ubiquitous usage หรือการใช้ได้อย่างแพร่หลาย

โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กสทช. เมื่อ 25 ธันวาคม 2566 อนุมัติให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้คลื่นความถี่ย่าน Ku-Band (Uplink: 14-14.5 GHz และ Downlink: 10.7–12.7 GHz) ของดาวเทียมต่างชาติกลุ่มดาวเทียม Starlink ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ของกลุ่ม SpaceX ซึ่งจะมีประโยชน์มากในพื้นที่ห่างไกลในภาคใต้ ที่มีเกาะแก่ง ทะเล หรือป่าเขา โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน หรือโครงข่ายไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง โดยเริ่มทดสอบรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในภารกิจค้นหาช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและภารกิจอื่นๆ    

...

 นายพชร กล่าวว่า ในส่วนของเทคโนโลยี ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) คือตัวเปลี่ยนผ่านของระบบโทรคมนาคม จาก 5G ไปยังมาตรฐานใหม่ 6G ของ 3GPP (3rd Generation Partnership Project) หรือกลุ่มความร่วมมือมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในการขับเคลื่อนด้านระบบคมนาคมและสื่อสาร (mobility) เพราะระบบ 5G ขณะนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงตามที่คาดหวัง โดยใน Ver2 จะรวมถึงการให้บริการโดยตรงระหว่างดาวเทียมและโทรศัพท์มือถือ (direct-to-cell) ในปี 2025 และรวมถึงการโทรแบบเห็นภาพ 3 มิติ หรือ hologram call ในอีกไม่ช้าด้วย

นายพชร กล่าวอีกว่า ความท้าทายอยู่ที่การกำกับดูแลและการบริหารธุรกิจโทรคมนาคม เพราะแนวทางจะเป็นการให้บริการรูปแบบใหม่ และการบริการของบริษัทข้ามชาติ โดย กสทช. ได้อนุญาตให้ผู้ให้บริการดาวเทียมต่างชาติเข้าตลาดเพื่อให้บริการสื่อสาร (landing right) ให้ดาวเทียมของ One Web โดย รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเทียม มองเห็นว่าจะเป็นประตูสู่ยุคใหม่ของการบริการโทรคมนาคม โดยผู้ให้บริการดาวเทียม OneWeb จะร่วมมือกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ทำสถานี Gateway เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณกับภาคพื้น 

"ในส่วนของดาวเทียมวงโคจรต่ำจะเป็นอนาคตของมนุษยชาติ แต่จะทำให้บริการโทรคมนาคมรูปแบบเดิมเป็นช่วงขาลงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับต้นทุนและความสามารถในการแข่งขัน คงไม่ต่างกับการเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์ลูกสูบเป็นรถไฟฟ้า ต้องมีการวางแผน การวิเคราะห์ ซึ่งตอนนี้คงต้องมองในมิติกฎหมายและเศรษฐศาสตร์การแข่งขันเป็นหลัก เพื่อถือไพ่ให้เหนือกว่าผู้ให้บริการและประเทศเพื่อนบ้าน" นายพชร กล่าวย้ำ