การประชุม ครม.วันอังคาร มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่ 3.75 ล้านล้านบาท แต่ยังไร้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งที่จีดีพีไตรมาส 1 เติบโตเพียง 1.5% การประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก เมื่อวันจันทร์ตามคำแนะนำของ คุณทักษิณ ชินวัตร มี นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานก็ไร้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่ให้ทุกหน่วยงานกลับไปคิดเป็นการบ้านมาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ มีเพียงข้อเสนอของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่นายกฯให้ความสนใจเป็นพิเศษ และได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม

เห็นแล้วก็รู้สึกว่า การตอบสนองต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ของ นายกฯเศรษฐา และ ครม.ชุดนี้ อยู่ในสภาพที่ เชื่องช้ามาก ทั้งที่ควร ทำได้เร็วกว่านี้

การประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ นายกฯเศรษฐา ไม่ให้เรียกว่า ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว น่าจะเรียกว่าการประชุม ครม.ปกติมากกว่า เพราะกระทรวงเศรษฐกิจในรัฐบาลชุดนี้กระจายไปทุกพรรคอยู่แล้ว หลังการประชุมหนึ่งชั่วโมงเศษ นายกฯเศรษฐา มอบให้ คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง กับรัฐมนตรีช่วย 3 คนแถลงแทน กลัวจะแถลงไม่รู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะตอนกล่าวเปิดประชุม นายกฯก็พูดแบบกว้างมากครอบคลุมทุกปัญหา ไม่ได้เจาะจงปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขทันที แต่ให้หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมกลับไปทำการบ้านมาเสนอ

ก็เลยไม่รู้ว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาวิกฤติที่ตรงไหน ต้องไปทำการบ้านมาก่อน

คุณพิชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ นำทุกปัญหามากางบนโต๊ะ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกัน โดยมีมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่ำมากที่ 57.2% ส่งผลต่อการจ้างงานและการบริโภค เมื่อผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ผู้ผลิตก็ไม่มีรายได้ ผู้ว่าการ ธปท.เห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ต้องมีมาตรการบางอย่างออกมา ที่ประชุมยังได้หารือถึงเงินเฟ้อที่พอดี เพื่อนำมาทำนโยบาย

...

ประเด็นที่สรุปได้เป็นรูปธรรมในการประชุมครั้งนี้ก็คือ ข้อเสนอของผู้ว่าการแบงก์ชาติ

คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยคลัง แถลงเพิ่มเติมว่า มาตรการระยะสั้นคือแก้ปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยใช้กลไก บรรษัทประกันสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมรายย่อย (บสย.) เข้ามาค้ำประกันการกู้ผ่านโครงการ PGS 11 เพื่อแก้ปัญหาธนาคารที่ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ โดยเพิ่มเงื่อนไขว่า ต้องปล่อยกู้หรือค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีรายใหม่เป็นลำดับแรก คาดว่าจะนำกลับมาเข้าสู่ ครม.ในอีก 2–3 สัปดาห์ ส่วนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐก็ได้รับโจทย์ให้ปล่อยสินเชื่อให้ประชาชน ช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น กระทรวงการคลังเองก็จะเร่งเบิกจ่ายงบและเร่งงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

การช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น ผมเขียนไปเมื่อวันอังคาร เป็นข้อเสนอของแบงก์ชาติ ที่เคยเสนอให้ทั้งนายกฯและรัฐมนตรีคลังแล้ว ให้จัดตั้ง “กองทุนค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีโดยภาครัฐ” เพื่อให้ธนาคารมีความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น

เหตุผลที่ แบงก์ชาติ เสนอให้ตั้งเป็น “กองทุนค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี” ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัว สามารถอนุมัติวงเงินค้ำประกันได้เร็วขึ้น ต่างจากการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ซึ่งมีขั้นตอนมากกว่า แต่เมื่อรัฐบาลเลือกใช้ บสย.ในการแก้ปัญหา รัฐบาลก็ต้องเพิ่มวงเงินค้ำประกันให้ บสย.อย่างเพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องแก้ปัญหาความรวดเร็วในการอนุมัติการค้ำประกัน ทุกปัญหามีทางออกหลายทาง ผู้นำที่เก่ง จะสามารถเลือกทางออกที่ง่ายที่สุดและได้ผลมากที่สุด ขอให้ท่านผู้นำตัดสินใจถูกทางเถอะ เพี้ยง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม