"รัดเกล้า" เผย ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหาร

วันที่ 28 พ.ค. นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอและให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้ยกเลิก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจใหม่ เพื่อทดแทนพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดให้ข้าราชการตำรวจจะได้รับเงินประจำตำแหน่งท้าย พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในอัตราใดให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนด รวมทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหาร และสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ร่างพระราชกฤษฎีกาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เป็นการกำหนดประเภทตำแหน่งและการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ เพิ่มเติมจากพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2558 ที่จะถูกยกเลิก เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และกำหนดสิทธิและหลักเกณฑ์ของข้าราชการตำรวจให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตำรวจท้าย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 สรุปดังนี้

...

1. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและได้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการอีกประเภทหนึ่งอยู่ด้วยแล้ว นั้น ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารโดยไม่ตัดสิทธิการได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการที่ตนครองอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับการได้รับเงินประจำตำแหน่งของผู้บริหารที่ครองตำแหน่งประเภทวิชาการด้วยของข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหารตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2539 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการทหาร พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ พ.ต.ท. ขึ้นไป และดำรงตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเฉพาะได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ (วช.) โดยเพิ่มสายงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเฉพาะที่ไม่อาจมอบหมายให้ผู้มีคุณวุฒิอย่างอื่นปฏิบัติงานแทนได้ และเป็นงานที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ จำนวน 5 สายงาน (ได้แก่ วิชาชีพเฉพาะกายอุปกรณ์ วิชาชีพเฉพาะกิจกรรมบำบัด วิชาชีพเฉพาะเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก วิชาชีพเฉพาะแพทย์แผนไทย และวิชาชีพเฉพาะเวชศาสตร์การสื่อความหมาย) จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 28 สายงาน เพื่อเป็นการรองรับการปรับปรุงภารกิจที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเฉพาะดังกล่าวในอนาคต

3. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่ต้องปฏิบัติงานที่เป็นงานหลักของหน่วยงาน และต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ (ชช.) โดยเพิ่มลักษณะงานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 2 ด้าน ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ จากเดิมที่เคยมีอยู่ 46 ด้าน ได้แก่ ด้านการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้สอดคล้องกับสายงานสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยรายงานว่าการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของระบบค่าตอบแทนการปฏิบัติงานระหว่างข้าราชการตำรวจกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร รวมทั้งเป็นการจัดทำระบบค่าตอบแทนของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเหมาะสมสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ โดยสำนักงาน ก.พ. เห็นควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางแผนบริหารจัดการและกำหนดกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสมกับความจำเป็นตามภารกิจ รวมทั้งกำหนดลักษณะงานและคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งที่จะมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งให้สอดคล้องกับตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งอยู่เดิม และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการประเภทอื่นด้วย และ สำนักงบประมาณเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรใช้จ่ายงบประมาณตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน หรือเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป