“ชัยธวัช” ชี้ โจทย์ใหญ่สังคมไทยยังเป็นการหาฉันทามติที่จะอยู่ร่วมกัน มอง การเลือกตั้งล่าสุด ผู้ที่เชื่อมั่นศรัทธาว่าเรามีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ ได้ถูกปลุกขึ้นมา และไม่สามารถทำให้หลับได้อีกแล้ว

วันที่ 26 พฤษภาคม 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมกล่าวปาฐกถาในเวที “Next Talk: อนาคต ความหวัง ความฝัน” ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นเวทีที่รวมบุคคลในแวดวงต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สังคม ธุรกิจ การพัฒนาเมือง และการเมือง มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทย

นายชัยธวัช กล่าวตอนหนึ่งถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในแต่ละยุคสมัย ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงอยู่ที่โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยคือ เรายังไม่สามารถหาฉันทามติที่จะอยู่ร่วมกันได้ โดยมีโจทย์ที่ติดค้างมาตั้งแต่อดีตและโจทย์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มาจนถึงยุคพฤษภาคม 2535 และกระแสธงเขียวรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่ในบรรยากาศที่สังคมไทยไม่เคยไว้วางใจอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ และมาถึงจุดแตกหักเมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 ตามมาด้วยการรัฐประหารในปี 2549 และในปี 2557 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุต่อไปว่า ชนชั้นนำนอกระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งพยายามออกแบบระบบการเมืองไทยใหม่ โดยเรียนรู้จากความผิดพลาดเมื่อปี 2540 ว่าจะออกแบบระบบประชาธิปไตยไทยอย่างไรที่ยังดูเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งอยู่ แต่ก็สามารถควบคุมกำกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งให้อยู่ในขอบเขตได้ ออกแบบระบบการเมืองซึ่งทำให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้เป็นอำนาจสูงสุดจริงๆ แต่ให้อยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น การพยายามนำสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลับไปเป็นระบบแต่งตั้ง การใช้องค์กรอิสระมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้ตุลาการภิวัตน์ควบคู่กับการรัฐประหารด้วยอาวุธ วางกลไกต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าชนชั้นนำเดิมที่อยู่นอกการเลือกตั้งพยายามออกแบบระบบการเมืองใหม่ที่ลงตัวกว่านี้

...

ขณะเดียวกัน การแบ่งขั้วเหลือง-แดง ที่ทางหนึ่งเป็นความขัดแย้งฝังลึก แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นการเมืองของภาคประชาชนที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คนจำนวนมากมีความกระตือรือร้นทางการเมือง ผูกพันกับการเมือง และเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพันกับการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อที่จะให้แต่ละฝ่ายเข้าไปมีอำนาจรัฐ เพียงแต่ว่าฝ่ายหนึ่งเรียกร้องการเลือกตั้ง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ความพยายามของชนชั้นนำเดิมที่พยายามออกแบบระบบการเมืองใหม่มาแทนที่ฉันทามติปี 2540 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้ไม่มีใครเชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะอยู่ไปตลอดกาล 

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดว่า ชนชั้นนำทางการเมืองที่เคยขัดแย้งอยู่คนละฝั่งกันได้มองเห็นศัตรูตัวเดียวกัน ก็คือการเมืองแบบอนาคตใหม่-ก้าวไกล ที่อยู่ดีๆ ก็โผล่ออกมาเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญ ทำให้เกิดการสร้างพันธมิตรขึ้นมาชั่วคราว โดยมีศัตรูร่วมกัน และมีวาระทางการเมืองที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง นำไปสู่สภาวะการเมืองสามเส้า โดยสองเส้าก็คือชนชั้นนำทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเคยเข้าสู่อำนาจโดยอาศัยความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งเคยเข้าสู่อำนาจโดยอาศัยวิถีทางนอกประชาธิปไตย และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพลังใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้อำนาจ

สุดท้ายแล้ว โจทย์ใหญ่ก็คือเรายังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ การเมืองข้างบนกำลังปะทะกับการเมืองข้างล่างของประชาชนที่กำลังสับสนอลหม่าน ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่ยังไม่สามารถหาฉันทามติได้ว่าระบบการเมืองและกติกาแบบใดที่พวกเราแม้จะเห็นไม่ตรงกัน มีความขัดแย้งกัน แต่ก็ยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันได้ สามารถหาข้อยุติด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ยอมรับร่วมกันได้ ผลัดกันแพ้ชนะและขัดแย้งได้

นายชัยธวัช ยังกล่าวอีกว่า ข้อดีของสถานการณ์ช่วงนี้คือการเมืองมวลชนของประชาชนถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาและไม่สามารถทำให้กลับไปหลับได้อีกแล้ว ตั้งแต่สมัยการเมืองยุคเหลือง-แดงมาจนถึงปัจจุบัน และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ผู้ที่เชื่อมั่นศรัทธาว่าเรามีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศผ่านการเลือกตั้งได้ถูกปลุกขึ้นมาแล้ว 

“แม้จะยังไม่สำเร็จ แต่ก็มีปัจจัยบวกที่จะทำให้การเมืองของประชาชนที่มีเป้าหมายและเจตจำนงไม่เหมือนกับการเมืองของคนข้างบน สร้างพลังเข้าไปปะทะต่อรองในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญเพื่อกำหนดว่าหน้าตาของสังคมไทยในอนาคตอีกหลายทศวรรษจะเป็นอย่างไร และถ้าใครอยากจะมีส่วนร่วม เอาความฝันความหวังของตัวเองเข้าไปผลักดัน ก็ต้องเข้าไปทำตอนนี้เท่านั้น ไม่ใช่อีก 10 ปีข้างหน้า”