โพลสถาบันพระปกเกล้า หากมีการเลือกตั้ง สส. คนส่วนใหญ่ยังคงจะเลือกพรรคก้าวไกล เป็นอันดับ 1 จนทำให้ก้าวไกลอาจได้ สส.มากกว่าเพื่อไทยเกือบ 2 เท่า และอยากให้ “พิธา” เป็นนายกฯ “บิ๊กตู่” อันดับ 2 “เศรษฐา” อันดับ 4 

วันที่ 26 พฤษภาคม 2567 สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี: 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566” โดยร่วมกับ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองและศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 76 จังหวัด ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,620 ตัวอย่าง เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ใช้วิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (stratified random sampling) ในทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร 

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขต 

  • ร้อยละ 35.7 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล
  • ร้อยละ 18.1 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
  • ร้อยละ 11.2 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย
  • ร้อยละ 9.2 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ
  • ร้อยละ 7.8 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ
  • ร้อยละ 5 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์
  • ร้อยละ 1.6 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา
  • ร้อยละ 1.2 ระบุว่า ผู้สมัครจากพรรคประชาชาติ
  • ร้อยละ 10.2 ระบุว่า จะลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ หรือยังไม่ตัดสินใจเลือกใครในตอนนี้ 

...

เมื่อสอบถามต่อไปถึงการเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ถ้ามีการเลือกตั้ง สส. ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคใด 

  • ร้อยละ 44.9 ระบุว่า พรรคก้าวไกล
  • ร้อยละ 20.2 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย
  • ร้อยละ 10.9 ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ
  • ร้อยละ 3.5 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย
  • ร้อยละ 3 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์
  • ร้อยละ 1.3 ระบุว่า พรรคประชาชาติ
  • ร้อยละ 0.7 ระบุว่า พรรคชาติไทยพัฒนา
  • ร้อยละ 12.6 ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่ต้องการลงคะแนนให้พรรคใดเลยในตอนนี้

เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง สส. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นมี 2 พรรค คือ พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชาติ โดยพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 9.67 ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ สส. เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาชาติ ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 0.35 ซึ่งอาจทำให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ สส. เพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง 

ขณะที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลดลง จำนวน 6 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 7 และอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไปราว 28 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 3.41 มีโอกาสเสียที่นั่ง 11 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 2.64 มีโอกาสเสียที่นั่ง 10 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 1.13 มีโอกาสเสียที่นั่ง 3 ที่นั่ง สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับคะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 0.47 และพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ได้รับคะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 0.02 นั้น คะแนนนิยมที่ลดลงยังไม่มากพอที่จะส่งผลให้พรรคการเมืองทั้งสองมีที่นั่งลดลง

ส่วนของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พบว่า มีพรรคการเมือง 5 พรรค ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น คือ พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 8.33 พรรคพลังประชารัฐ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.62 พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.66 พรรคภูมิใจไทย ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.6 และพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.19 โดยคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้พรรคก้าวไกล มีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 8 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง ส่วนคะแนนที่เพิ่มขึ้นของอีกสามพรรคยังไม่มากพอที่จะทำให้ได้ที่นั่งเพิ่ม 

สำหรับพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลดลง จำนวน 3 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมลดลง คิดเป็นร้อยละ 7.49 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 1.18 และพรรคประชาชาติ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 0.24 คะแนนนิยมที่ลดลงดังกล่าวมีผลให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อน้อยลง 8 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติมีโอกาสได้น้อยลง 2 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติมีโอกาสได้ที่นั่งน้อยลง 1 ที่นั่ง 

เมื่อนําตัวเลขประมาณการที่นั่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีโอกาสได้รับจากการเลือกตั้งทั้งสองระบบมารวมกัน พบว่าหากมีการเลือกตั้ง สส. ในช่วงเวลานี้ พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่มีโอกาสได้ที่นั่งมากที่สุด รวม 208 ที่นั่ง รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย 105 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 61 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ 34 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 30 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง ส่วนที่นั่งที่เหลือจะกระจายไปยังพรรคการเมืองอื่นๆ รวม 21 ที่นั่ง 

ทางด้านคำถามว่า ถ้าเลือกได้ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด 

  • ร้อยละ 46.9 ระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
  • ร้อยละ 17.7 ระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • ร้อยละ 10.5 ระบุว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร
  • ร้อยละ 8.7 ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน
  • ร้อยละ 3.3 ระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล
  • ร้อยละ 1.7 ระบุว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
  • ร้อยละ 0.4 ระบุว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • ร้อยละ 10.9 ระบุชื่อคนอื่นๆ รวมกับที่ยังไม่เห็นว่ามีคนที่เหมาะสม