“วราวุธ” รมว.พม. ชูนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร โยงภาคเกษตร-แรงงาน แนะใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่ม การบรรยายพิเศษ ในหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 5

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) บรรยายพิเศษในหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 5 หัวข้อ “Effect of super aged society on labor productivity in Thai agriculture”

โดยนายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบัน วิกฤติประชากรของประเทศไทย พบว่า เด็กมีอัตราการเกิดน้อย และสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน และคาดการณ์ว่า ในปี 2585 ประชากรไทยจะลดลงเหลือจำนวน 60 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) จะมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10.36 และประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) จะเหลือเพียงร้อยละ 58.20 ในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.44 ทำให้วัยแรงงานต้องเป็น “The แบก” ของประเทศ อีกทั้งระบบสวัสดิการและหลักประกันของรัฐมีค่าใช้จ่ายของรัฐในการจ่ายเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปี 2566 ใช้งบประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาทต่อผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน ถ้ายังจ่ายแบบเดิม (ขั้นบันได) คาดว่าปี 2572 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.26 แสนล้านบาท แต่หากเพิ่มเป็น 1,000 บาท จ่ายแบบทั่วหน้า ภายใน 5 ปี จะต้องใช้งบประมาณ 1.89 แสนล้านบาท และหากเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาท จ่ายแบบทั่วหน้า จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 5.68 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อภาคเกษตรเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่คนหนุ่มสาวไม่สนใจอาชีพภาคเกษตร จากสถิติปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนมากถึง 15.4 ล้านคน ในขณะที่ปี 2565 แรงงานภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 11.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 29.31 ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 58.46 ปี ทั้งนี้การเข้าสู่สังคมสูงวัยผนวกกับความสนใจในการทำงานในภาคการผลิตอื่นๆ ของคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านผลิตภาพในภาคเกษตรของประเทศ

...

นายวราวุธ กล่าวว่า จาก Global Climate Risk Index 2021 ประเทศไทยได้ถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง อันดับที่ 9 ของโลก และ The World Bank Report on Thailand Rural Income Diagnostic 2022 คาดการณ์ว่า ในปี 2591 GDP ของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจาก Climate Change มากเป็นลำดับที่ 5 ของโลก โดยอาจทำให้ GDP ลดลงถึงร้อยละ 45 ถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ อีกทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ กว่า 470 สายพันธุ์กำลังถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อภาคเกษตร ในขณะเดียวกันปัญหาด้านมลพิษโดยเฉพาะทางอากาศ จะทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย และจะทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมได้เร็วขึ้นส่งผลให้ทั้งพืชและสัตว์ย่อมได้รับผลกระทบ และกระแสของ Digital Tranformation ทำให้รูปแบบของพฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรไทยต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้

นายวราวุธ กล่าวว่า หลายประเทศได้ใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีคุณค่า ด้วยการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาชีพเกษตรกรรม ชี้ให้เห็นข้อดีของการทำเกษตร เปลี่ยน Mindset ของคนรุ่นใหม่ และพัฒนาศักยภาพของคนวัยทำงาน และผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่ในภาคเกษตร ที่สำคัญคือการทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพ เช่น ประเทศเคนยา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤติประชากร" เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ในรูปแบบ World Café เพื่อร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ ในการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วม ทำให้ได้ผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าวแบะถูกพัฒนาเป็นนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และ 5 มาตรการหลัก ในแต่ละยุทธศาสตร์ ซึ่ง ครม. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานและเสนอต่อที่การประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

นายวราวุธ กล่าวว่า มาตรการที่สำคัญจากนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยสามารถผ่าวิกฤติประชากรนี้ไปได้ ได้แก่ การพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill/ Upskill) จะต้องมีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรสูงวัยและคนพิการ โดยพัฒนาสื่อการเรียนรู้และเทคนิคที่หลากหลายให้สอดคล้องกับศักยภาพของเกษตรกร การส่งเสริมการมีงานทำและรายได้ กระจายงานสู่พื้นที่และชุมชน จะต้องมีการสร้างแรงจูงใจรวมทั้งการปรับเปลี่ยน Mindset สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของภาคเกษตร ทำให้เห็นว่าการเกษตรทำให้คนรุ่นใหม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยผลักดันมาตรการจูงใจให้แรงงานรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ภาคเกษตรให้มากขึ้น และการช่วยเหลือเกษตรกรสูงวัยให้รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและสนับสนุนให้มีส่งผ่านประสบการณ์จากเกษตรกรสูงวัยสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ นอกจากนี้การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (GreenEconomy) โดยเฉพาะการนำเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” เข้ามาสนับสนุนการเกษตรอย่างจริงจังพร้อมกับการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture System)

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อน “กระเสียวโมเดล” ในนิคมสร้างตนเองกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2528 ปัจจุบันมีสมาชิกนิคมฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,065 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง และร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันเป็นพื้นที่นำร่องในการบูรณาการกการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร โดยได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG โมเดล) เพื่อให้สมาชิกนิคมฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้มั่นคง มีการนำทรัพยากรมนุษย์ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นทุนทางสังคมมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงาน เด็กและเยาวชน ผู้สูงวัย และคนพิการ.