วันเสาร์สบายๆวันนี้คงต้องติดตาม เรื่องสำคัญของประเทศชาติและประชาชน กันนะครับ นั่นก็คือ อนาคตของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน หลังจากที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้รับคำร้อง 40 สว.ไว้พิจารณา กรณี นายกฯเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ โดยศาลให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
ส่วน นายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้อง เพราะได้ลาออกจากรัฐมนตรีสำนักนายกฯแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว
กรณี (คำร้อง 40 สว.) ขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา ทวีสิน) หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือว่ารอดไปได้อย่างหวุดหวิด (ตุลาการเสียงข้างน้อย 4 คน มี นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์)
...
ก็อย่างที่ผมวิเคราะห์ไปเมื่อวานนี้ นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ต้นเหตุที่ถูกร้องในครั้งนี้ ตัดช่องน้อยลาออกจากรัฐมนตรีสำนักนายกฯไปตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ปล่อยให้ นายกฯเศรษฐา โดดเดี่ยวแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียว ทั้งที่ประกาศกับสื่อว่าตัวเองเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ
ประเด็นสำคัญที่ นายกฯเศรษฐา จะต้องชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ได้ก็คือ มาตรา 160 เกี่ยวกับ คุณสมบัติของรัฐมนตรี ซึ่ง (4) บัญญัติว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ (5) บัญญัติว่า “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ก่อนหน้านี้ นายกฯเศรษฐา อ้างว่าได้ถาม คณะกรรมการกฤษฎีกา แล้ว แต่ในหนังสือที่ส่งไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ถามถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีเฉพาะ ตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) แต่ไม่ได้ถามมาตรา 160 (4) และ (5)
ทำไม นายกฯเศรษฐา จึงให้ถามคุณสมบัติรัฐมนตรี เฉพาะมาตรา 160 (6) และ (7) ทำไมไม่ถาม (4) และ (5) หรือ มาตรา 160 ทั้งมาตราเลย
มาตรา 160 บัญญัติคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ 8 ข้อ ดังนี้ “รัฐมนตรีต้อง (1) มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด (2) มีอายุไม่ตํ่ากว่าสามสิบห้าปี (3) สำเร็จการศึกษาไม่ตํ่ากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามมาตรา 98 (7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
คุณสมบัติรัฐมนตรี 8 ข้อในมาตรา 160 บัญญัติไว้ชัดเจนมาก
แต่ นายกฯเลือกถามแค่ 2 ข้อคือ (6) กับ (7) ก็ต้องแก้ข้อกล่าวหาให้ได้ ทำไมถามแค่คุณสมบัติ 2 ข้อนี้ แต่ไม่ถามถึง คุณสมบัติข้อ (4) และ (5) ทั้งที่อยู่ในมาตราเดียวกัน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม