นายกฯ พอใจเดินสายยุโรป เผย 2 นายกฯ ฝรั่งเศส-อิตาลี มั่นใจการเมืองไทย หลังผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่นายกฯ อิตาลีรับปากเตรียมเดินทางเยือนไทย ก.พ. 68 พร้อมเที่ยวภูเก็ต เจรจาอียูหนุนยกเว้นวีซ่าเชงเกนไทย เหตุคนไทยประวัติดี ไม่มีหลบหนี บอกข่าวดี เปิดเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-มิลาน ดีเดย์ 1 ก.ค.นี้ เล็งเยือนอินเดีย-แอฟริกา-ตุรกี ต่อ


วันที่ 22 พ.ค. 2567 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังจบภารกิจการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ว่า การเยือนประเทศอิตาลีครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย เพราะมีการกำหนดชั้นตอนชัดเจน ว่าอนาคตจะมีขั้นตอนอย่างไร จะทำอะไรบ้าง ซึ่งตนพอใจมากในภาพรวมตลอดเวลาหลายวันที่ผ่านมา และเชื่อว่าความเป็นกลางทางด้านการเมืองของไทยทำให้ไทยมีเสน่ห์ อีกทั้งเราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพราะเรื่องของธุรกิจที่จะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้ามา อิตาลีต้องมั่นใจว่าไทยจะสามารถส่งสินค้าได้โดยที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ซึ่งแน่นอนว่าชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศไทย ทำให้มีคนอยากเดินทางมาอยู่ที่นี่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หารือทวิภาคีกับ นางจอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี ในโอกาสการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ ว่า ถือเป็นโอกาสดี เพราะนอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นประธานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ซึ่งตำแหน่งนี้สามารถโน้มน้าวประเทศสมาชิกได้หลายๆ เรื่อง ตนโดยมีการหารือทวิภาคีแบบสองต่อสองในบรรยากาศพูดคุยแบบสบายๆ เริ่มต้นด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยได้นำเรื่องการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกน ที่ไทยได้หารือในเรื่องนี้กับประเทศสมาชิกยุโรปอยู่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีก็พร้อมให้การสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาคนไทยที่เดินทางไปอิตาลีไม่มีปัญหาเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง ไม่ได้หลบหนี และไม่ได้ก่อปัญหาให้ประเทศอิตาลี จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ความช่วยเหลือไทย

...

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีอิตาลีเป็นคนแรกของยุโรปที่ได้สอบถามว่าทำไมถึงอยากได้วีซ่าฟรีเชงเกน นอกเหนือจากความสะดวกสบายแล้วมีประเด็นอะไรอีกหรือไม่ ซึ่งตนได้บอกว่านอกจากจะมีความสะดวกสบายในการเข้าหากันแล้วก็จะทำให้มีการลงทุน และมีการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งการขอวีซ่าฟรีเชงเกน 1 ครั้ง มีความยากลำบากและใช้เวลานาน หากจะต้องการให้มีการค้าขายระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) จึงจำเป็นต้องมีความสะดวกสบายในเรื่องนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลักดันอย่างเต็มที่ รวมถึงการเจรจาการค้าเสรี (FTA) หากบริษัทเอกชนในอิตาลีต้องการไปลงทุนในประเทศไทย เพื่อขยายฐานการผลิตและกระจายสินค้าไปทั่วโลก เรื่อง FTA เป็นเรื่องสำคัญ

ขณะที่เรื่องของความมั่นคง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้ออาวุธ และการพัฒนากองทัพร่วมกัน ได้มอบหมายให้ทูตทหารประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงของอิตาลี นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนาระบบการฝึกซ้อม และเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย ส่วนเรื่องอุตสาหกรรมการออกแบบ เรื่องแฟชั่นและดีไซน์ ก็มีการพูดคุยในเรื่องนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพราะว่าประเทศอิตาลีไปไกลในเรื่องนี้มาก สำหรับเรื่องของพลังงาน ทางอิตาลีให้ความสนใจในเรื่องของการจัดทำพลังงานสะอาด และการค้นหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้จะลิงก์กับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA)

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ทางการอิตาลีเป็นฝ่ายหยิบยกขึ้นมาเสนอคือเรื่องของแรงงานที่ต้องการให้ไทยส่งแรงงานเฉพาะฤดูที่เกี่ยวกับการเกษตรเข้ามาทำงานที่ประเทศอิตาลี สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของชาวไทย ซึ่งจะทำให้มีรายได้สูงมาก และเป็นอีกทางเลือกให้กับเกษตรกรชาวไทย นอกเหนือจากการไปประเทศอิสราเอล ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะรับไปดูต่อในเรื่องนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพูดคุยกับนายกฯ อิตาลี ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที รวมเวลารับประทานอาหารร่วมกัน ถือเป็นเรื่องดีๆ เพราะมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้าร่วม โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ที่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน ซึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยู่ร่วมวงอาหารด้วย ส่วนเรื่องของการขยายสนามบินทางอิตาลีก็มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่อาจเข้ามาเสนอตัวมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ และทางนายกรัฐมนตรีอิตาลีก็ได้เสนอว่า ทั้งสองประเทศควรมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่ชัดเจน และมีการเซ็น MOU อยู่ระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน และเอกชนกับรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีอิตาลีเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนกันยายน แต่ช่วงเวลานั้นติดการประชุม G7 จึงตัดสินใจว่าอาจมีการเดินทางเยือนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2568 พร้อมเชิญชวนให้นายกรัฐมนตรีอิตาลีเดินทางไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เพราะทราบว่าไม่เคยเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย และทราบว่ามีลูกสาวอายุ 7 ขวบ ชื่นชอบการท่องเที่ยว

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข่าวดีอีกหนึ่งอย่างว่า จะมีการเปิดเที่ยวบินกรุงเทพ-มิลาน ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม และช่วงฤดูหนาว จะมีการเปิดเที่ยวบิน กรุงเทพ-โรม ซึ่งคาดว่าสายการบินแห่งชาติของอิตาลี ก็น่าจะสนใจในเรื่องนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า ในอดีต 10-20 ปีที่ผ่านมา เรื่องของการค้าขายระหว่างสองประเทศ ไทยควรทำได้ดีกว่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าทั้งฝรั่งเศสและอิตาลี กังวลอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยหรือไม่ ก่อนตัดสินใจมาลงทุนในไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวก็รู้สึกแปลกใจ ที่ผู้นำทั้งสองประเทศไม่พูดถึงการเมืองไทย แต่พูดถึงเรื่องธุรกิจ และเขามีความมั่นใจในประเทศไทยสูงมาก 

เมื่อถามว่าแสดงว่า ณ วันนี้ เขามีความมั่นใจในประเทศไทยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นเรื่องของกระบวนการทั้งหมดของการได้มาซึ่งรัฐบาล ตามระบอบประชาธิปไตย ที่มีความชอบธรรม ซึ่งตรงนี้มันจบแล้ว การที่เราเดินทางไปยังหลายๆ ประเทศ และได้เห็นถึงการไปปรากฏตัวในเวทีโลกหลายเวที ทุกคนเห็นว่าประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ เรื่องเหล่านี้สำคัญ และไม่มีโอกาสและจังหวะไหนดีที่สุดเท่าจังหวะนี้แล้ว 

เมื่อถามว่าจากการพบกันกับนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ภาพที่ออกมาดูเหมือนนายกรัฐมนตรีมีความสนิทสนมและเป็นกันเอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจ โดยนายกรัฐมนตรีอิตาลีแม้เป็นสุภาพสตรึ แต่เป็นคนที่พูดจาได้ชัดเจน อีกทั้งมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกับฝ่ายเรา ถือเป็นนิมิตหมายอันดี 

“ผมคงไม่คอยถึงเดือนกุมภาพันธ์ สักสองสัปดาห์คงต้องมีการติดตาม โดยให้เอกอัคราชทูตไทยประสานติดต่อ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่าหลังจากจบการเดินทางครั้งนี้แล้ว มีแผนที่จะเดินทางไปเยือนประเทศไหนอีก นายกรัฐมนตรี ระบุว่าคาดว่าน่าจะไปประเทศอินเดีย ซึ่งจะมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอยู่มา 4 เทอมแล้ว มีความเชี่ยวชาญในหลายด้านและชื่นชอบประเทศไทย นอกจากนี้ยังคิดว่าจะเดินทางเยือนแอฟริกาเพื่อเปิดตลาดค้าขาย เกี่ยวกับเรื่องอาหารและสินค้าการเกษตร รวมถึงประเทศที่เป็นประตูสู่ทวีปยุโรป คือ ตุรกี ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ขึ้นไตรมาส 4 

“แต่จากนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงของวันมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมจะยังไม่เดินทางไปไหน แต่จะลงพื้นที่โครงการพระราชดำริ ซึ่งมีหลายโครงการ จะไปตรวจงานและติดตามให้ทุกโครงการ ดำเนินไปด้วยดี” นายกรัฐมนตรี กล่าว