นายกฯ หารือทวิภาคี นายกฯ อิตาลี เดินหน้าความสัมพันธ์ไทย – อิตาลี ผลักดันความร่วมมือหลายด้าน การค้าการลงทุน แฟชั่นและซอฟต์พาวเวอร์ การยกเว้นวีซ่าเชงเกน การเจรจา FTA ไทย - EU พร้อมชวนนายกฯ อิตาลีเยือนไทยปีหน้า


วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.45 น. ของวันที่21 พฤษภาคม 2567 (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี (Palazzo Chigi) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ และหารือทวิภาคีกับนางจอร์จา เมโลนี (Madame President Ms. Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี ในโอกาสการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ โดยภายหลังเสร็จสิ้น นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอิตาลีต่างแสดงความยินดีที่ได้พบหารือกันในวันนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลอิตาลีที่ให้การต้อนรับและดูแลบุคคลสำคัญของไทยในการเยือนอิตาลี พร้อมแสดงความยินดีกับอิตาลีที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ปี 2567 และเชื่อมั่นว่าอิตาลีจะประสบความสำเร็จในการจัดการประชุม G7 Summit ในเดือนมิถุนายนนี้

...

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

“การค้าและการลงทุน” นายกรัฐมนตรียินดีต่อความสำเร็จของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ในการร่วมกันจัดงาน Thailand – Italian Business Forum เมื่อวานนี้ โดยไทยต้องการให้อิตาลี ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ มาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Landbridge และร่วมลงทุนในด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า การจัดงานดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น

“แฟชั่นและซอฟต์พาวเวอร์” นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้อิตาลีเข้ามาลงทุนในไทยด้านแฟชั่นและซอฟต์พาวเวอร์ การเกษตร การบิน และการเงิน พร้อมขอให้อิตาลีพิจารณาสนับสนุนสินค้าแฟชั่นของไทย โดยเฉพาะผ้าไหมไทย เพื่อขยายธุรกิจในวงการแฟชั่นเฮาส์และสถาบันการศึกษาของอิตาลี ผ่านการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันและความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบของอิตาลี

“อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและอิตาลีมีความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศมายาวนาน โดยมีการร่วมฝึก Cobra Gold และการจัดทำความตกลงด้านการป้องกันประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณอิตาลีที่เข้าร่วมนิทรรศการ Defense & Security ที่กรุงเทพฯ และหวังว่าไทยกับอิตาลีจะยังคงความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยไทยต้องการสร้างความร่วมมือกับอิตาลีผ่านกลยุทธ์การจัดซื้อและการพัฒนา และต้องการผลักดันไทยให้เป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาค หรือศูนย์บำรุงรักษาขั้นสูง

“แรงงาน” นายกรัฐมนตรีขอบคุณอิตาลีที่เสนอความร่วมมือในการบรรจุไทยในกฤษฎีกา (Flows Decree) ของอิตาลี โดยไทยได้แสดงความตั้งใจเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 พร้อมขอรับการสนับสนุนจากอิตาลีในประเด็นดังกล่าว ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอิตาลี ยังกล่าวถึงความสนใจที่อิตาลีมีต่อแรงงานในอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มรายงานที่มีคุณภาพโดยขอชวนให้ไทยมองเห็นอิตาลีเป็นอีกทางเลือกในสถานที่ทำงาน

“การยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกน” นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากอิตาลีในการผลักดันการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย โดยนักท่องเที่ยวไทยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีการใช้จ่ายในอิตาลีสูง มีการยื่นขอวีซ่าเข้าอิตาลีประมาณ 100,000 คนต่อปี หากสามารถผลักดันการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนได้สำเร็จ จะสนับสนุนการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพจากไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้อิตาลีสนับสนุนไทยในการบรรลุการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สหภาพยุโรป ให้สามารถสรุปภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มพูนการค้าและการบริการระหว่างกัน พร้อมขอบคุณอิตาลีที่สนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิก OECD ของไทย ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยจะมีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และอำนวยความสะดวกในการเจรจา FTA ไทย - สหภาพยุโรปที่กำลังดำเนินอยู่

ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีอิตาลีเสนอให้มี Action Plan เพื่อความร่วมมือในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ Defence และ best practices ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น การเกษตร นวัตกรรมการเกษตร การออกแบบ เพิ่มคุณค่าสินค้าให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จัก รวมทั้ง ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญนายกรัฐมนตรีอิตาลีเดินทางเยือนไทย ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเป็นในช่วงปี 2568 โดยระหว่างการเยือนเสนอให้มี Business Forum เสนอให้ฝ่ายอิตาลีนำนักธุรกิจเยือนไทย

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีอิตาลีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน (Working Lunch) แก่นายกรัฐมนตรี