อยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 5 ปี สว.ชุดแต่งตั้งจึงแสดงความขยันเป็นพิเศษ ด้วยการเปิดอภิปรายโดยไม่มีการลงมติ ก่อนพ้นตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือน นึกว่าจะเป็นการทิ้งทวน แต่ที่ไหนได้ ยังมีปฏิบัติการทิ้งทวนซํ้าซ้อนอีก ด้วยการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายเศรษฐา ทวีสิน และนายพิชิต ชื่นบาน พ้นตำแหน่ง
กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ ในการแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขาดคุณสมบัติ เพราะนายพิชิตเคยมีเรื่องอื้อฉาว นำ “ถุงขนม” ที่บรรจุธนบัตรนับล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาล กลายเป็นเรื่องราว ถูกลงโทษฐานดูหมิ่นศาล และถูกสภาทนายความลบชื่อ
40 สว. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้นายเศรษฐากับนายพิชิตพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญหลายมาตรา และหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ในทางการเมือง เพราะนายกฯอาจหยุดทำหน้าที่ชั่วคราว หรือพ้นตำแหน่ง
ถ้าผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อาจมีการฟ้องศาลฎีกาในข้อหาฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ถ้าศาลเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดจริง ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่ง ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีพ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง คือ นายยุทธพร อิสรชัย แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิจารณ์ว่า สว.มีสิทธิตามกฎหมายที่จะร้องศาลเพื่อให้นายกฯพ้นตำแหน่ง แต่มีปัญหาเรื่องความเหมาะสม เพราะ สว. ชุดนี้พ้นตำแหน่งแล้ว เป็นเพียง สว.รักษาการ เราลืมไปแล้วว่า สว. ชุดนี้มีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง
นั่นก็คือ การปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 รวมทั้งการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ กว่า 5 ปีที่ผ่านมา สว.ปฏิรูปประเทศในด้านใดบ้าง รัฐธรรมนูญมาตรา 113 ยังบัญญัติไว้ว่า สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่ หรือยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ
...
สถานภาพของ สว. ชุดนี้ ตามรัฐธรรมนูญถือว่าอยู่ครบ 5 ปี ครบวาระการเป็น สว.แล้ว ขณะนี้มีสถานะเป็นเพียงสภารักษาการ เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง แต่เป็นรัฐบาลรักษาการ มีบทบัญญัติห้ามกระทำการหลายอย่าง เช่น กระทำการอันเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม