ประชาชนสะท้อนผ่านโพล อยากเห็นธนาคารกำราบแก๊งดูดเงิน ชี้ ควรกระตือรือร้นรับผิดชอบเงินลูกค้าให้ดีกว่านี้ แนะเปิดเมนูแจ้งอายัดบัญชีมิจฉาชีพในแอปพลิเคชันธนาคาร
วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมการ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และอาจารย์ประจำหลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ในฐานะผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยความร่วมมือของสองสำนักโพล ระหว่างสยามเทคโนโพล และซูเปอร์โพล เรื่อง เสียงลูกค้าธนาคารต่อแก๊งดูดเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวน 1,283 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-18 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงประสบการณ์เคยเจอปัญหาความไม่ปลอดภัยต่อเงินในบัญชีธนาคารออนไลน์ พบว่า เกือบ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 24.1 ระบุ เคยเจอปัญหามากถึงมากที่สุด ร้อยละ 23.7 ระบุ ปานกลาง ร้อยละ 27.7 ระบุ เคยเจอปัญหา น้อยถึงน้อยที่สุด และในขณะที่ร้อยละ 24.5 ระบุ ไม่เคยเจอเลย
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่สำรวจพบในเดือนกุมภาพันธ์ กับเดือนพฤษภาคม 2567 ว่า ใครต้องรับผิดชอบเมื่อประชาชนถูกแก๊งดูดเงินหลอก ซึ่งพบแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่มที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ยกเว้นกลุ่มของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พบแนวโน้มความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นสูงสุด มีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มที่ 1 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า ธนาคารรับฝากเงินต้องรับผิดชอบเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 75.4 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 86.3 ที่ระบุว่า ธนาคารรับฝากเงินต้องรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.9 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
...
กลุ่มที่ 2 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า มิจฉาชีพ โจรไซเบอร์ ต้องรับผิดชอบเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 56.4 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 65.3 ที่ระบุว่า มิจฉาชีพ โจรไซเบอร์ต้องรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.9 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
กลุ่มที่ 3 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องรับผิดชอบเพิ่มสูงขึ้นมากสุดจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 23.0 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 37.0 ที่ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 14.0 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
กลุ่มที่ 4 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า เหยื่อ เจ้าของบัญชี ต้องรับผิดชอบ ลดลงจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 31.8 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ29.0 ที่ระบุว่า เหยื่อ เจ้าของบัญชีต้องรับผิดชอบ ลดลงร้อยละ 2.8 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
กลุ่มที่ 5 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า ตำรวจ ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 13.5 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 20.2 ที่ระบุว่า ตำรวจต้องรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.3 รู้สึกกังวลต่อความไม่ปลอดภัยของเงินที่ฝากไว้ในบัญชีธนาคารแบบออนไลน์ และที่น่าพิจารณาคือ ข้อเสนอแนะจากประชาชนต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรักษาเงินของประชาชนในบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ได้แก่
(1) ธนาคารรับฝากเงินของลูกค้า ควรกระตือรือร้น รับผิดชอบ มีหลักธรรมาภิบาล กำกับกิจการที่ดี ดูแลเงินของลูกค้าธนาคารให้ดีกว่านี้
(2) ให้ลูกค้าธนาคารที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ รวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากธนาคารที่ปล่อยปละละเลย เพิกเฉย ล่าช้า ขาดความรับผิดชอบต่อเงินในบัญชีของลูกค้า
(3) ควรมีเมนู ในแอปพลิเคชันให้ลูกค้าธนาคารผู้ตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีมิจฉาชีพได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร
(4) ธนาคาร ควรมีระบบเชื่อมโยงกับลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน สามารถระงับการโอน อายัดเงินในบัญชีมิจฉาชีพได้ทันที
(5) ควรมีหน่วยงานกลางตรวจสอบความรับผิดชอบ ความไม่รับผิดชอบและการปล่อยปละละเลยของบางธนาคาร
(6) แก้ไขกฎหมาย คุ้มครองลูกค้าธนาคารมากขึ้น สามารถลงโทษเอาผิดธนาคาร เอาผิดมิจฉาชีพ เจ้าหน้าที่รัฐให้มากกว่านี้
(7) อื่นๆ เช่น ให้ความรู้ ความตระหนักแก่ประชาชนมากขึ้น บูรณาการทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคาร ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตำรวจ ร่วมกันขจัดขบวนการมิจฉาชีพ ดำเนินคดีธนาคารที่ปล่อยปละละเลย หละหลวมในการดูแลรักษาเงินของลูกค้าและข้อมูลของลูกค้าธนาคาร และหน่วยงานรัฐด้านคุ้มครองผู้บริโภคควรดูแลประชาชน เป็นต้น.