“พิธา” ย้ำ ก้าวไกลไม่ได้ฉวยโอกาสหวังผลการเมือง ยื่น 5 ข้อ เรียกร้องราชทัณฑ์ ต้องเปิดเผยสาเหตุ “บุ้ง เนติพร” เสียชีวิต ให้สังคมกระจ่าง ห่วง “ตะวัน” ยังอดอาหาร วอนนักกิจกรรมคิดถึงชีวิตตัวเองก่อน

วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ก่อนการเริ่มงานมหกรรมนโยบายพรรคก้าวไกล Policy Fest ครั้งที่ 1 “ก้าวไกล Big Bang” จัดขึ้น ที่ไบเทคบางนา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ไปร่วมงานศพ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้เรียกร้องกรมราชทัณฑ์ไปแล้วว่า ให้เปิดเผยผลการชันสูตร และสาเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร อย่างโปร่งใส หากไม่มีความชัดเจนและมีความเข้าใจผิด ก็จะยิ่งทำให้มีความบาดหมางในสังคมไปกันใหญ่  

ทั้งนี้ ตนยังอยากเห็นข้อเท็จจริงจากแพทย์ที่ทำการรักษา และข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกไว้ว่า วันจันทร์นี้ (20 พฤษภาคม 2567) จะออกมาให้ข้อมูลกับครอบครัว คิดว่าการเปิดเผยครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการต่อท่อเครื่องช่วยหายใจผิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ น.ส.เนติพร เสียชีวิต จะจริงหรือไม่จริงขอให้สังคมฟังข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์

...

ส่วนที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าถูกโยงเข้ากับคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น นายพิธา ระบุว่า ต้องแยกออกจากกันว่า การแก้ไขมาตรา 112 หรือการปฏิรูปสถาบัน ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ น.ส.เนติพร เรียกร้อง ส่วนเหตุที่ทำให้ต้องอดอาหารเป็นเวลานาน เป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิการประกันตัว น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ น.ส.เนติพร และอีก 2-3 คน อดอาหาร มากกว่าจะเป็นเรื่องมาตรา 112 และตนเองพูดแทน น.ส.เนติพร ไม่ได้ แต่เชื่อว่า น.ส.เนติพร ต่อสู้เพื่อเพื่อน หรือคนที่มีความคิดแบบเดียวกัน คือความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และสิทธิในการประกันตัว รวมถึงการฝากขังและการเข้าถึงทนายความ

ขณะเดียวกัน นายพิธา ยืนยันด้วยว่า พรรคก้าวไกลไม่ฉกฉวยโอกาสแน่นอน และการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนไม่ว่ากลุ่มไหนก็มีอิสระเป็นของตนเอง ไม่ได้ยึดโยงกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง พรรคก้าวไกลเชื่อในหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสากลที่เชื่อในบริบทประชาธิปไตยอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าพรรคก้าวไกลกับคนหนุ่มสาวเห็นไปในทางเดียวกันทุกเรื่อง แม้ว่าจะเป็นฝั่งตรงกันข้าม แล้วถูกคุมขังโดยไม่ได้พิจารณา พรรคก้าวไกลก็จะออกมาพูดเหมือนกัน พร้อมย้ำว่า ไม่ได้เป็นการฉกฉวยเอาผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่มีเรื่องนั้นอยู่ในหัวพวกเราอยู่แล้ว เราให้เกียรติครอบครัวผู้เสียชีวิตมากกว่า

“พรรคก้าวไกลได้พยายามสื่อสารพูดคุยกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวและเยาวชนตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้วว่าให้คิดถึงชีวิตตัวเองก่อน แต่เราก็ไม่สามารถก้าวก่ายความเด็ดเดี่ยวของเขาได้ และผมไม่รู้จักพวกเขาเป็นการส่วนตัว แต่หากมีโอกาสได้พบ จะบอกว่าให้เอาชีวิตตัวเองมาก่อน เพราะการต่อสู้ยังอีกยาวนาน แต่จะฟังหรือไม่ก็เป็นสิทธิของเขา”

พร้อมกันนี้ นายพิธา ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เพิ่งย้ายออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กลับมาที่เรือนจำ ว่า ตนเองเห็นจากข่าวแล้ว เข้าใจว่า น.ส.ทานตะวัน คงจะเสียใจที่สูญเสียเพื่อน แต่ชีวิตตัวเองก็สำคัญ ตนเองเป็นห่วง จึงขอฝากพ่อแม่ของ น.ส.ทานตะวัน ให้ดูแลด้วย

อย่างไรก็ตาม นายพิธา ยังได้ย้ำถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ต่อกรมราชทัณฑ์ คือ 1. ความโปร่งใส ข้อเท็จจริง และมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยคืออะไร 2. กลับไปที่ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมคือ ตำรวจ ซึ่งเรื่องของคดี นายกรัฐมนตรีเป็นคนคุมตำรวจโดยตรง น่าจะมีวิธีที่จะมาพูดคุยกันได้ 3. เรียกร้องไปยังอัยการ 4. ในชั้นศาล เราแยกกันระหว่างบริหาร ศาล และสภา ไม่สามารถที่จะเกี่ยวข้องกันได้ และ 5. การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นปลายน้ำแล้ว ควรที่จะรีบทำออกมา มันเป็นเวลานานแล้วที่ต้องมีคนบาดเจ็บล้มตาย เพียงเพราะความเห็นทางการเมือง และอายุต่ำลงเรื่อยๆ ตรงนี้คงไม่เป็นผลดีกับสถาบันไหนเลยในประเทศไทย นั่นคือสาเหตุที่เราอยากจะเอาเรื่องนี้เข้าไปคุยกันในสภาอย่างมีวุฒิภาวะ ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย และไม่ต้องบีบใครให้ออกไปสู้ด้วยชีวิตของตัวเองอย่างที่ น.ส.เนติพร ต้องทำ.