“เศรษฐา” เผย เสนอผ้าย้อมคราม ให้ Zegna บริษัทชั้นนำด้านแฟชั่น พิจารณาปรับใช้ เล็งส่งดีไซเนอร์ไทยศึกษาที่อิตาลี พร้อมให้ “หม่อมหลวงชโยธิต” เสนอมาตรการทางภาษี ให้เอกชนอิตาลีที่ต้องการมาขยายการลงทุนในไทย

วันที่ 18 พ.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภารกิจการเยือนโรงงานของห้องเสื้อ Zegna เมืองวาลดิลานา (Valdilana) และพบหารือกับ นาย Gildo Zegna ผู้บริหารของห้องเสื้อ Zegna ว่า วานนี้นั่งรถไป 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อไปโรงงานผลิตภัณฑ์ชั้นนำด้านแฟชั่นชื่อ Zegna ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำทางด้านแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านการทำผ้าที่เป็นที่นิยม ทั้งผ้าวูล (ผ้าขนสัตว์) แคชเมียร์และผ้าฝ้าย เขาไม่ได้ทำแค่เฉพาะแบรนด์ของตัวเอง แต่ยังส่งไปให้ Christian Dior Hermès และ Louis Vuitton แสดงว่าเป็นผู้นำด้านผ้าอย่างแท้จริง มีร้านในไทยที่สยามพารากอนและกำลังจะเปิดสาขาใหม่ เชื่อว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในไทย จึงเป็นที่มาว่าทำไมวันนี้ตนถึงต้องมาเจอ เพราะเขาเข้าใจตลาดไทยและมีความผูกพันกับประเทศไทยพอสมควร ตนได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม จากจังหวัดสกลนคร มาเสนอ ซึ่งทางบริษัทจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ไปสำรวจว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำผ้าย้อมครามมาผลิตภายใต้แบรนด์ของเขา เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์มาขาย ซึ่งเรื่องของผ้าย้อมครามอยู่ภายใต้โครงการในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นความภาคภูมิใจของสินค้าพื้นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และสามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าของ Zegna ที่กระจายสินค้าไปทั่วโลกได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะในอีก 2 สัปดาห์ทางบริษัทจะเดินทางไปประเทศไทย

...

นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่วนการหารือกับผู้บริหารของแบรนด์ชั้นนำระดับโลก Loro Piana ซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญของ Zegna เป็นบริษัทที่ทำเรื่องผ้าเหมือนกัน แต่เน้นหนักไปทางเสื้อผ้าฤดูหนาว ซึ่งปัจจุบันได้หันมาทำเสื้อผ้าฤดูร้อนค่อนข้างเยอะพอสมควร ซึ่งเมื่อ 7 เดือนที่ผ่านมาได้ไปเปิดร้านที่สยามพารากอน และประสบความสำเร็จอย่างมากมายเกินความคาดหมาย จึงเป็นเหตุผลที่คณะทำงานของตนเลือกมาเจอ และเขาก็ชื่นชมว่าประเทศไทยมีความเข้าใจเรื่องแฟชั่น และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องจักสานที่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำกระเป๋า และผ้าย้อมครามจากโครงการดอนกอย จ.สกลนคร ที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชันในอนาคต และที่น่าสนใจคือในปัจจุบันแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก หากมีการปล่อยสินค้าหรือเปิดคอลเลกชันใหม่ จะมีการตั้ง Pop up store ซึ่งเป็นร้านเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้าง หรืออยู่แบบถาวร จะไปเปิดตามชายหาดหรือสถานที่ต่างๆ ที่มีเวลาจำกัด ซึ่งอาจจะทำที่เชียงใหม่หรือภูเก็ต เป็นการขยายลูกค้า ทำให้มีการท่องเที่ยวที่ดีด้วย ขณะที่การหารือกับ Carlo Capasa ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ ที่เป็นสมาคมที่ดูด้านแฟชั่นทั้งหมดของอิตาลีว่า เป็นที่น่าสนใจเพราะจีดีพีของอิตาลีขึ้นอยู่กับแฟชั่น ซึ่งส่งออกแฟชั่น 90% ขณะที่ 10% ใช้ภายในประเทศ ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ที่รวมตัวเป็นสมาคมมีความแน่นแฟ้น และมีการพูดคุยตลอดเวลา มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีการจัดนิทรรศการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเชื่อมโยงกับสถาบันสอนแฟชั่นของมิลาน โดยมีการพูดคุยว่าจะนำนักเรียนไทยด้านแฟชั่นมาศึกษาต่อที่นี่ ขณะเดียวกันก็จะมีการช่วยเหลือในการจัดแฟชั่นโชว์ระดับโลกที่เมืองไทย และการจัดนิทรรศการโดยเอาดีไซเนอร์ทั้งที่มีชื่อเสียงและเป็นรุ่นต่อไปที่จะมีชื่อเสียงจากอิตาลีไปแสดงที่ประเทศไทย รวมถึงจัดให้มีการสอนหนังสือเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับเรื่องแฟชั่นที่ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่ดีที่เราพยายามให้เขาเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น 

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงการหารือกับ นาย Attilio Fontana ผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย ว่าเป็นแคว้นที่มีจีดีพีสูงสุดในอิตาลี ทั้งเรื่องการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหนัง หรือแม้กระทั่งรถยนต์ ซึ่งเราได้ขอการสนับสนุนให้ไปลงทุนในประเทศไทย โดยในไตรมาส 3 เอกอัครราชทูตไทยประจำอิตาลี จะทำงานร่วมกับหม่อมหลวงชโยธิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย และบีโอไอ จะจัดทีมงานมานำเสนอข้อเสนอและมาตรการสนับสนุนทางภาษี เพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของอิตาลีย้ายฐานการผลิตหรือขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยบ้าง รวมทั้งนำโครงการที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทั้งการอัปเกรดสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก รถไฟความเร็วสูงหรือแม้กระทั่งโครงการแลนด์บริดจ์ เขาจะเห็นภาพโครงการทั้งหมด ว่าเราจะทำอะไรบ้าง และจะสามารถมีส่วนร่วมกับเราตรงไหนได้บ้าง