สวดศพ “บุ้ง ทะลุวัง” มีแกนนำและมวลชนชาวม็อบระดับแถวหน้าทยอยเข้าร่วมไว้อาลัยหนาแน่นขณะที่นักการเมือง บุคคลสำคัญ และนักเคลื่อนไหว ส่งหรีดร่วมไว้อาลัย ด้านทนายเปิดผลตรวจ 3 สาเหตุการเสียชีวิตของบุ้ง ยอมรับยังยืนยันไม่ได้ 100% เพราะต้องรอผลจากแล็บ แฉ รพ.ราชทัณฑ์เบี้ยว ไม่ยอมให้เอกสารผลการรักษาย้อนหลังและกล้องวงจรปิด อธิบดีกรมราชทัณฑ์แจงละเอียดยิบ ปมการตายของบุ้ง ยืนยันกระบวนการช่วยชีวิตบุ้ง รพ.ราชทัณฑ์ปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาของแพทย์ทุกประการ เคลียร์ปมที่สังคมสงสัย ทำไมแพทย์ไม่บังคับให้ผู้อดอาหารกินอาหาร เพราะมีกฎปฏิญญาโตเกียวกำหนด แพทย์ต้องไม่บังคับให้อาหารแก่ผู้ถูกคุมขัง หากแพทย์ไปบังคับจะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ “รุ้ง” จี้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเดินหน้านโยบายคืนสิทธิประกันตัว หวังไม่มีใครต้องเสียชีวิตอีก ด้าน “มายด์” บุกรัฐสภา จี้ กมธ.นิรโทษฯจะรวม 112 ได้หรือยัง “ชูศักดิ์” ชักแม่น้ำอ้างลำพัง กมธ.ทำเองไม่สำเร็จ
ครอบครัว “เสน่ห์สังคม” และญาติจัดพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพของ “บุ้ง ทะลุวัง” หรือ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง ที่ศาลา 7 วัดสุทธาโภชน์ ลาดกระบัง กทม. เมื่อคืนวันที่ 16 พ.ค. เป็นคืนแรก หลังจาก น.ส.ชญาภัส เสน่ห์สังคม หรือโบ พี่สาวบุ้ง เนติพร รับศพบุ้งออกจาก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มาวัดตั้งแต่ช่วงสายวันเดียวกัน
ทั้งนี้ บรรยากาศงานศพเป็นไปอย่างโศกเศร้า มีมวลชนแนวร่วมที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุวังเดินทางมาร่วมงาน อาทิ นางเงินตรา คำแสน หรือมานี ที่ถือภาพบุ้งมาตั้งแต่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ นายอัครพล เงินเนย หรือหิน ที่โกนผมเตรียมบวชหน้าไฟ ให้บุ้งในวันฌาปนกิจศพวันที่ 19 พ.ค. นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นายสมชาย คำนะ หรือดิว นายจิรภาส กอรัมย์ หรือแก็ป กลุ่มทะลุแก๊ส นายภราดร เกตเผือก ยูทูบเบอร์ช่องลุงดรที่ถ่ายทอดสดเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร นายสันติชน บุญช่วย เป็นต้น เจ้าภาพคืนแรกเป็นครอบครัวเสน่ห์สังคม กับนางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษกและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
...
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในงานยังมีเหล่าแกนนำ ม็อบและแนวร่วมระดับตัวตึงตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของบุ้ง เพื่อนฝูง ทนาย มาร่วมไว้อาลัย อาทิ นาย กฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง น.ส.กุณฑิกา นุตจรัส หรือทนายทราย น.ส.วีรดา คงธนกุลโรจน์ หรือทนายเฟิร์น จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ดูแลคดีให้เครือข่ายม็อบราษฎร นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือปูนทะลุฟ้า รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มาย-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นายนรินทร์ กุลพงศธร แอดมินเพจ “กูkult” นายคฑาธร ดาป้อม หรือต๊ะ นายธีรภัทร ประดับแก้ว กลุ่มทะลุวัง น.ส.อันนา อันนานนท์ กลุ่มนักเรียนเลว เป็นต้น ส่วนเจ้าภาพวันที่ 17 พ.ค. มีพระอาจารย์ ภาวัต ธมมรตโน แม่ชีหน่อย ธรินทร์ญา คณะลูกศิษย์จากสำนักสงฆ์ดอยป่าตึงงาม เชียงราย นายปัญจพล เสน่ห์สังคม วันที่ 18 พ.ค. มูลนิธิศักยภาพชุมชน
ขณะเดียวกัน มีนักการเมือง บุคคลสำคัญและนักเคลื่อนไหว ทยอยส่งพวงหรีดมาไว้อาลัย อาทิ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนคนที่ 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คณะรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อดีต ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหิดล กลุ่มทะลุแก๊ส ที่เขียนข้อความบนพวงหรีดว่า ถึงทะลุวัง “นกโบยบินออกจากกรงขังส่งต่อความหวังสู่อิสระเสรี” ฯลฯ ขณะเดียวกันก็มีนายชัยธวัช ตุลาธน หน.พรรคก้าวไกล มาร่วมงานศพด้วย
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติออกหนังสือรับรองการตายของบุ้งแจ้งเหตุการตายไว้ว่า 1.มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน 2.ภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ 3.หัวใจโต และยังระบุในรายงานด้วยว่า จะต้องรอผลจากแล็บเรื่องเลือดและสารคัดหลั่งของบุ้งที่ถูกส่งไปตรวจว่ามีสารพิษหรือมียาอะไรที่เคยให้ไว้เพื่อรักษาอาการบุ้งไว้ก่อนหน้านี้ มีการแทรกแซงอะไรหรือเกิดจากการรักษาพยาบาลที่ประมาทเลินเล่อของผู้ใดผู้หนึ่งหรือไม่ ขณะที่เอกสารการรักษาบุ้งจาก รพ.ราชทัณฑ์ ได้ขอตั้งแต่วันที่บุ้งเสียชีวิตขณะนี้ยังไม่ได้ ถ้านายกฯสั่งการไว้ตามที่เป็นข่าวจริง แสดงว่า รพ.ราชทัณฑ์ ไม่ทำตามคำสั่งนายกฯ วันที่ 17 พ.ค. จะไปขอเอกสารและกล้องวงจรปิดจาก รพ.ราชทัณฑ์ ฝากถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าลูกน้องท่านไม่ได้ทำตามสิ่งที่รับปากไว้ ดังนั้นญาติ ทนายและคนที่รักบุ้งยังคงสงสัย นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตจากเอกสาร รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ระบุว่าร่างบุ้งมาถึง รพ.ธรรมศาสตร์ เวลา 09.00 น. วันที่ 14 พ.ค. ขณะนั้นบุ้งไม่มีสัญญาณชีพใดๆ หมายถึงเสียชีวิตมาก่อนถึงมือแพทย์แล้ว คือน้องเสียชีวิตแล้ว เมื่อมาถึง รพ.การช่วยชีวิตขณะนั้น เพื่อให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเท่านั้น
วันเดียวกัน นายสหการณ์ เพ็ชร์นรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับผลชันสูตรศพ น.ส.เนติพร กรมยังไม่ได้รับจาก รพ.ธรรมศาสตร์ แต่มีการประสานอย่างต่อเนื่องกับแพทย์นิติเวช รพ.ธรรมศาสตร์ ทราบว่ามีกระบวนการพอสมควร ไม่ว่าจะตัดเอาชิ้นส่วนอวัยวะ ชิ้นเนื้อเยื่อ เข้าตรวจสอบในห้องแล็บ ถือเป็นกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปวิเคราะห์และประมวลผลอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ส่วนกรณีที่มีรายงานว่า รพ.รามาธิบดี นำสารคัดหลั่งและเลือดไปตรวจสอบ ตรงส่วนนี้ขึ้นอยู่กับ รพ.ธรรมศาสตร์ว่าจะประสานขอความร่วมมือกับสถานพยาบาลใดในการตรวจเพิ่มเติมหรือไม่ หากผลชันสูตรศพจาก รพ.ธรรมศาสตร์ดำเนินการเสร็จสิ้น กรมราชทัณฑ์จะทราบในทุกรายการ ผลชันสูตรศพจะช่วยคลี่คลายข้อสงสัยทุกประเด็นได้ และกรมจะแถลงให้สังคมทราบ
นายสหการณ์กล่าวอีกว่า ได้รับรายงานว่า กระบวนการช่วยชีวิตบุ้ง รพ.ราชทัณฑ์ปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาของแพทย์ทุกประการ กรณีของบุ้งที่ผ่านมาไม่พบว่ามีอาการที่บ่งชี้ถึงการจะเกิดภาวะวูบหมดสติอย่างกะทันหัน เนื่องจากค่าออกซิเจนและค่าความดันปกติ ช่วงเช้าวันที่ 14 พ.ค. ก่อนบุ้งเสียชีวิตพบว่ายังพูดคุยปกติกับ น.ส.ทานตะวัน บนเตียงผู้ป่วย บุ้งรับประทานได้ปกติตามหลักโภชนาการ เช่น อาหารอ่อน นม และอาหารเสริม แต่ก็ไม่ได้บังคับ แต่ถ้าไม่ทานไปบังคับไม่ได้ แต่ได้แนะนำโน้มน้าวว่าควรรับประทาน ยอมรับว่าจากการที่บุ้งอดอาหารและน้ำมานาน อาจทำให้ร่างกายขาดวิตามิน เกลือแร่ ส่งผลต่อระบบร่างกายโดยรวมได้ แต่บุ้งได้ปฏิเสธชัดเจนถึงการรับสารอาหารและวิตามินทางหลอดเลือด
อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวต่อว่า ส่วน น.ส.ทานตะวันตอนนี้กลับมารับประทานอาหารตามปกติ อยู่ในการดูแลของ รพ.ธรรมศาสตร์ ส่วนนายแฟรงค์ ณัฐนนท์ กลับมารับประทานอาหารเช่นเดียวกัน ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าทำไมแพทย์ถึงไม่บังคับให้ผู้อดอาหารรับประทานอาหาร เรียนว่ามันมีกฎปฏิญญาโตเกียวกำหนดว่าแพทย์ไม่มีหน้าที่หรือแพทย์จะต้องไม่ไปบังคับให้อาหารแก่
ผู้ถูกคุมขัง การกระทำใดๆต้องได้รับการยินยอมจากผู้อดอาหารประท้วงเพื่อดำรงไว้ซึ่งเจตจำนงเสรี หากแพทย์ไปบังคับรับประทานอาหาร จะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าโน้มน้าวแล้วเขาไม่ยินยอมต้องมีการลงชื่ออดอาหาร เราไม่ได้ปล่อยปละละเลยหรือละทิ้งคนกลุ่มนี้ ยังดูแลรักษาตามอาการ เพื่อไม่ให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่บางสิ่งบางอย่างก็อยู่เหนือการควบคุม แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รู้สึกเสียใจอย่างยิ่ง ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นอย่างกะทันหัน เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รักษาดูแลเต็มที่ ให้เขาอยู่ใกล้แพทย์ที่สุดเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่ในเรื่องอุดมการณ์ของเขาคงไปขัดขวางไม่ได้
อีกด้านหนึ่งเมื่อช่วงสายวันที่ 16 พ.ค. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำทะลุฟ้า พร้อมด้วย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐบาลเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง มีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ มีการนำโปสเตอร์ นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยให้ใช้รัฐสภาเป็นกลไกคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อคดีทางการเมือง รวมถึงมีการเปิดภาพบันทึกเทปโทรทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก รัฐมนตรี และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีการพูดถึงนโยบายการปล่อยตัวผู้ต้องขัง คดีทางการเมือง
ตัวแทนผู้ยื่นหนังสืออ่านแถลงการณ์ 4 ข้อคือ 1.เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพรให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว 2.ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด ได้รับสิทธิในการประกันตัว 3.ชะลอการดำเนินคดีการจับคุมขังบุคคลในคดีการเมือง จนกว่าจะผ่านกฎหมาย นิรโทษกรรม รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง ไม่ยื่นอุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 4.เร่งรัดกันออกกฎหมายนิรโทษกรรม ประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุมาจากคดีทางการเมือง ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมได้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วหวังว่าจะไม่มีบุคคลใดจะต้องเสียชีวิต และทุกคนจะได้รับสิทธิในการประกันตัวและสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง ขณะเดียวกันทางกลุ่มจะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 21 พฤษภาคม
ต่อมา น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เดินทางไปที่รัฐสภา นำคณะเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อนายชูศักดิ์ ศิรินิล รอง หน.พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า วันนี้มี 1 ชีวิตสูญเสียไป จากการถูกขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เคยเข้าที่ประชุม กมธ.ฯกับทุกท่านมีเหตุผลมากมายบอกว่ามาตรา 112 ยังไม่เป็นปัญหา มีความเป็นไปได้จะตั้งอนุฯพิจารณาเรื่องมาตรา 112 แยกต่างหากออกไป แต่สุดท้ายไม่เกิด วันนี้อยากให้ช่วยพิจารณาซ้ำอีกครั้งหลังจากเกิดความสูญเสียขึ้นแล้ว การนิรโทษ กรรมจะรวมมาตรา 112 ได้หรือยัง จะเอาเหตุผลไหนมาปฏิเสธว่ามาตรา 112 ไม่มีปัญหา ทั้งตัวบทกฎหมายและบังคับใช้ ถ้าจะไม่รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย กมธ.ฯต้องอธิบายเหตุผลต่อประชาชนให้ชัดเจน เพราะคนที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เรียกร้องด้วยชีวิตของเขาจนเขาสูญเสียชีวิตไปแล้ว เราหวังว่าจะไม่ป้อนคนเข้าเรือนจำ เข้าไปเสี่ยงในการถูกขังจนตายเพิ่มได้ไหม ปล่อยพวกเขาออกมาได้ไหม
นายชูศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ฯขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียเยาวชน สิ่งที่ น.ส.ภัสราวลีพูดมาทั้งหมดจำได้เคยเสนอใน กมธ.ฯตั้งแต่เรื่องข้อเสนอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ขอให้ชะลอการฟ้องคดีไว้ก่อน การขอให้มีการนิรโทษ กรรมคดีตามมาตรา 112 เรายังไม่ได้มีมติใดๆในการปฏิเสธหรือไม่รับข้อเสนอ แต่หลายเรื่องจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นนโยบายที่สำคัญ เชิญฝ่ายเกี่ยวข้องมาพูดคุย ถ้า กมธ.ฯทำไปแล้วหน่วยงานอื่นเขาไม่ได้รับรู้รับทราบด้วย เขาก็จะบอกว่ายึดถือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ลำพังที่ กมธ.ฯทำอะไรไปโดยที่ฝ่ายอื่นเขาไม่ร่วมมือก็ไม่สำเร็จ ส่วนเรื่องนิรโทษกรรม เช่นกันเรื่อง 112 ก็ถูกบรรจุไว้ใน กมธ.นิรโทษกรรมไม่ได้ตัดออกไปและอยู่ในกระบวนการปรึกษาหารือ ดูข้อดีข้อเสีย เราจะพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นธรรมมากที่สุด
ขณะเดียวกัน นายชูศักดิ์ตอบคำถามสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับการเสียชีวิตของบุ้ง ทะลุวังว่า ขณะนี้กำลังหาทางแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในกฎหมายบางข้อ เบื้องต้นได้ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อถามย้ำเหตุการณ์นี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยหรือไม่ นายชูศักดิ์ตอบว่า เราตระหนักดีเป็นปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายของไทย เราเพิ่งผ่านการยึดอำนาจจากการรัฐประหาร รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างสุดความสามารถ เมื่อถามว่าจะกระทบการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติของไทยหรือไม่ นายชูศักดิ์ตอบว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตอบฝ่าย สภาฯตอบแทนไม่ได้