กมธ.นิรโทษกรรม สภาฯ เคาะส่ง 3 ข้อเสนอ “กลุ่มทะลุฟ้า” ให้รัฐบาล เร่งประชุมพิจารณาให้ทันเปิดสมัยประชุมสภาฯ ยัน ไม่ตัด ม.112 ทิ้ง หลังเกิดเหตุ "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิต
เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 16 พ.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมแถลงผลการประชุม
โดยนายสมคิด กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่กลุ่มทะลุฟ้ามายื่นหนังสือ หลังการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง โดยได้พิจารณาหลายเรื่อง เพราะเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาล ซึ่ง กมธ.ได้เสนอความเห็นที่หลากหลาย จึงต้องนำเสนอไปยังรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยกลุ่มทะลุฟ้าถามมา 4 ข้อ คือ 1.ให้ตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร 2.ให้ดำเนินการใดๆ โดยให้ผู้ต้องขังได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว 3.ชะลอการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นถอนฟ้อง ถอนคำร้องที่ร้องมา ซึ่งทั้งสามข้อเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และ 4.การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ กมธ.โดยตรง ฉะนั้น มธ.จึงมีมติส่งหนังสือความคิดต่างไปยังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะมีการประชุมกันในวันที่ 20 พ.ค. เวลา 15.00 น. ซึ่งกรณีนี้เป็นความร้อนใจของ กมธ. และเชื่อว่าทุกคนคงไม่มีแค่คำว่าเสียใจ แม้เราจะไม่มีอำนาจแก้ปัญหาโดยตรง แต่เราสามารถออกความเห็นถึงรัฐบาลได้ ส่วนตัวคิดว่าไม่ว่า กมธ.ชุดไหนก็เป็นห่วงเรื่องนี้ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
...
ด้านนายนิกร กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ครั้งนัดไป 23 พ.ค.นี้ ที่ประชุมจะมีการโหวตว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นมาหรือไม่ และจากเดิมที่ กมธ.มีการประชุมสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ดังนั้นหลังจาก 2 สัปดาห์ต่อไป กมธ.จะมีการประชุมทุกสัปดาห์เพื่อรีบดำเนินการให้ทัน พร้อมเอาเข้าที่ประชุมสภาที่จะเปิดสมัยประชุมในต้นเดือนกรกฎาคม และเพื่อความรอบคอบ กมธ.ชุดใหญ่ได้มีกรอบการทำงานให้กับ อนุฯกมธ.ว่าอีก 2 สัปดาห์ จะต้องสรุปผลทำให้เรียบร้อยแล้วนำเสนอต่อที่ประชุมชุดใหญ่ โดยจะต้องมีการโหวตและเป็นมติเกี่ยวกับการจำแนกกรณีว่า คดีใดเป็นความผิดหลัก คดีใดความผิดรองว่าเป็นอย่างไร รวมถึงนิยามคำว่า “การจูงใจทางการเมือง” ซึ่งก็จะสามารถเคาะได้ในอีก 2 สัปดาห์
ขณะนี้ต้องเร่งรัด เพราะเรื่องที่เกิดขึ้น กมธ.ก็ต้องตอบสนองโดยเร็ว เมื่อเขาร้องเรียนมา เขาต้องการให้เรารีบดำเนินการ เราจึงต้องนัดประชุมทุกสัปดาห์ ส่วนมาตรา 112 นั้น ยังยันยันว่าไม่ได้มีการตัดทิ้ง โดยในอีก 2 สัปดาห์จะนำมาพูดคุยกันและสรุปอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร.