คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดวิธีการเลือกไขว้ แบ่ง 3 ระดับ ชิง 200 สว.ชุดใหม่ อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ 20 กลุ่มอาชีพ ตามไทม์ไลน์ 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกมา ขั้นตอน กระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ 200 คน จะแตกต่างจากการเลือกจากชุดก่อนหน้านี้

กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ที่ให้เลือกกันเอง 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่แต่ละระดับมีขั้นตอนการเลือก ยุ่งยาก ซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจ กกต.พยายามทำข้อมูลสรุปผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น กระบวนการเลือก สว. เกี่ยวกับขั้นตอนการเลือกผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด

...

ไทม์ไลน์เลือก สว. ระดับอำเภอ

เริ่มจากวันที่ 9 มิถุนายน 2567 เป็นประกาศวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ สำหรับขั้นตอนในการเลือกระดับอำเภอแบ่งเป็น 2 รอบ

เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) โดยผู้สมัคร 1 คน สามารถโหวตเลือกได้ 2 หมายเลข เช่น จะโหวตให้ตัวเองก็ได้ และลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นในกลุ่มเดียวกันได้ 1 คะแนน โดยการโหวตจะต้องใส่ตัวเลขอารบิก ไม่ใช่การกากบาท จากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 1-5 ของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบที่ 2

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย แต่ละสายจะต้องมี 3-5 กลุ่มอาชีพ โดยผู้สมัครสามารถเลือกเพื่อนผู้สมัครจาก “กลุ่มอื่น” ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจาก “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “เลือกตัวเอง” ไม่ได้ ดังนั้น ผู้สมัคร 1 คนจะโหวตได้ 4 คะแนน เพื่อโหวตให้ผู้สมัครที่อยู่กลุ่มอื่น กลุ่มละ 1 โหวต

ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบไปเลือกในระดับอำเภอ ในกลุ่มที่ตนเองสมัคร

ไทม์ไลน์เลือก สว. ระดับจังหวัด

วันที่ 16 มิถุนายน 2567 วันเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัด วิธีการเลือกเช่นเดียวกับระดับอำเภอ เลือก สว.ระดับจังหวัด แบ่งเป็น 2 รอบ

เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม สามารถเลือกตนเองได้ และลงคะแนนให้คนอื่นได้ 1 คะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ผ่านเข้าไปเลือกรอบ 2

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครจาก “กลุ่มอื่น” ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจาก “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “เลือกตัวเอง” ไม่ได้ ซึ่งผู้สมัคร 1 คนจะโหวตได้ 4 คะแนน เพื่อโหวตให้ผู้สมัครที่อยู่กลุ่มอื่น กลุ่มละ 1 โหวต เช่นเดิม เหมือนกับที่เลือกระดับอำเภอ

แต่ในระดับจังหวัดนั้น ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ที่ถูกเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มนั้น เพื่อไปเลือก สว.ระดับประเทศ

ไทม์ไลน์เลือก สว.ระดับประเทศ

ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2567 วันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ทั้งนี้ แบ่งเป็น 2 รอบเช่นเดิม แต่วิธีการต่างไป

เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัด มาแข่งระดับประเทศ จะเลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน สามารถ “เลือกตัวเองได้” แต่จะลงคะแนนให้กับคนอื่นเกิน 1 คะแนนไม่ได้ จึงเท่ากับ 1 คนสามารถโหวตได้ 10 คะแนน

จากนั้น ผู้ที่ได้รับเลือก 1-40 ของกลุ่ม จะเข้าไปเลือกรอบที่ 2 ต่อไป แต่ถ้ากลุ่มไหน ไม่ครบ 40 คน ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่าน เข้ารอบจะแบ่งออกเป็น 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถเลือก “ผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ใน สายเดียวกัน” กลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน หรือเลือกตัวเองไม่ได้

ดังนั้น ถ้าในแต่ละสายมี 5 กลุ่ม ผู้สมัครก็จะมีสิทธิโหวต 20 โหวต ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11-15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น

การประกาศผลเลือกตั้ง สว. วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จำนวน 200 คน รายชื่อสำรองอีก 100 คน

กกต.กำหนดปฏิทินการเลือก สว. ดังนี้

วันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 เป็นวันเปิดรับสมัคร สว. พร้อมกันทั่วประเทศ สมัครได้ที่ที่ว่าการอำเภอของแต่ละจังหวัด และสำนักงานเขตในกรุงเทพฯ

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 วันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็น สว.

วันที่ 9 มิถุนายน 2567 เลือก สว. ระดับอำเภอ

วันที่ 16 มิถุนายน 2567 เลือก สว. ระดับจังหวัด

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 เลือก สว. ระดับประเทศ

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 วันประกาศผลการเลือก สว. ทั้ง 200 รายชื่อ สำรอง 100 รายชื่อ

วุฒิสภาชุดใหม่ ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน ซึ่งมาจากการ "เลือกกันเอง" ของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้

1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการอัยการ ตํารวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

3. กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

4. กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

5. กลุ่มอาชีพทํานา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

6. กลุ่มอาชีพทําสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9 

11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

14. กลุ่มสตรี

15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

20. กลุ่มอื่นๆ

มีลักษณะอื่นๆ ในทํานองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ ตามข้อ 20 ได้