แถลงการณ์ 45 องค์กรนักศึกษา ประณามความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรม กรณีการตาย "บุ้ง ทะลุวัง" เรียกร้องนิรโทษกรรม ม.112 ปล่อยผู้ต้องหาคดีนี้ออกจากคุก ก่อนจะมีคนต้องจบชีวิตอีก

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 พ.ค. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม เครือข่ายองค์กรนักศึกษา 45 องค์กร 10 มหาวิทยาลัยและภาคประชาชน กรณี การเสียชีวิตของนักกิจกรรม "คุณบุ้ง เนติพร" หรือ "คุณบุ้ง ทะลุวัง" สืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตภายใต้การถูกคุมขังโดยรัฐ ของ คุณบุ้ง เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.22 น. ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ

เครือข่ายองค์กรนักศึกษา 45 องค์กร 10 มหาวิทยาลัยและภาคประชาชน ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น สาเหตุของความสูญเสียในครั้งนี้มาจากการที่ คุณบุ้ง เนติพร ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการทำโพลสำรวจความเห็นในประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับขบวนเสด็จ

และต่อมา ได้ถูกถอนการประกันตัวโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ และถูกส่งตัวเข้าคุมขัง ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในวันที่ 26 มกราคม 2567 โดยภายหลังจากการถูกถอนการประกันตัว คุณบุ้ง เนติพร ได้ทำการอดอาหารภายในเรือนจำ เพื่อเรียกร้องข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
2. ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมือง
3. ประเทศไทยไม่ควรเสนอตัวเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
นับแต่วันที่ 27 มกราคม 2567 ถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนถึง 109 วัน ที่ คุณบุ้ง เนดิพร ได้ทำการอดอาหาร ส่งผลให้สภาพร่างกายทรุดโทรมมาอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดช่วงเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ร่างกายเข้าสู่สภาวะวิกฤติ โดยมีอาการหัวใจหยุดเต้น และจากไปในเวลา 11.22 น.

ในการนี้

...

"เครือข่ายองค์การนักศึกษาขอประณามความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม และการกระทำของรัฐที่ได้กระทำนิติสงคราม โดยละเลยหลักนิติธรรมและหลักการพื้นฐานของกฎหมาย อย่างหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บริสุทธิ์ เนื่องจาก คุณบุ้ง เนติพร เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาและศาลยังไม่ได้พิพากษาว่า มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แต่องคาพยพในกระบวนการยุติธรรมกลับปฏิบัติดังเช่นอาชญากร สั่งคุมขังและถอนการประกันตัวโดยไม่มีเหตุอันควร ละเมิดสิทธิการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ถูกบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือแม้กระทั่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อีกทั้งขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทบทวนการบังคับใช้กฎหมาย
ภายใต้หลักนิติธรรม และให้ความสำคัญกับการจัดทำ พ.ร.บ.นิโทษกรรม ให้ครอบคลุมถึงคดีทางการเมือง ทุกคดี ไม่เว้นแต่คดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเป็นหลักประกันว่าความสูญเสียอันเกิดจากมูลเหตุ

คดีทางการเมืองที่ไม่ควรเกิดขึ้นในครั้งนี้ แม้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่จะต้องเป็นครั้งสุดท้าย และคืนความยุติธรรมให้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทุกคน อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีทางการเมืองกับผู้เห็นต่างนั้น ไม่ใช่วิถีทางแห่งประชาธิปไตย ประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้าได้สังคมต้องมีพื้นที่แสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์

การพยายามปิดกั้นความยุติธรรมที่ควรได้รับนั้นเสมือนระเบิดเวลาความขัดแย้งระลอกใหม่ของสังคมไทย สุดท้ายนี้ ขอให้ความสูญเสียในครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญแก่รัฐและสังคม ว่าถึงเวลาแล้ว
ที่รัฐจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยยึดถือหลักการทางกฎหมายที่ถูกต้อง และถึงเวลาแล้วที่สังคม จะลดอคติที่นำหลักการและเหตุผล ลดอคติที่มีต่อผู้ที่เห็นต่างจากตนเอง จนเสมือนเป็นใบอนุญาตในการพรากชีวิตผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยรัฐ

"คุณไม่ต้องรักพวกเขาก็ได้ จะชิงชังพวกเขาก็ตามสบาย แต่กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้พวกคุณฆ่า
พวกเขาในนามของการไม่ให้ประกันตัว คืนสิทธิการประกันตัวเดี๋ยวนี้ ก่อนจะมีใครตาย"