ในอนาคต คนไทยที่เจริญแล้ว มีส่วนทำให้มี พฤติกรรมในการตัดสินใจทางการเมือง ที่รอบคอบขึ้น ประเภทตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ ชอบสร้างภาพ จะกลายเป็นขี้ปากชาวบ้าน กลายเป็น ตัวตลกของ ชาวเน็ต ไปฉิบ คิดจะใช้วิธีประชาสัมพันธ์เดิมๆ จะเป็นฝันร้าย มากกว่า

เรื่องของสถานการณ์ไฟป่า ฝุ่นพิษ ที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างมาก หน่วยงานรัฐจะทำอะไรแค่ไหน ยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไฟไหม้ฟาง ยังไม่มีความเป็น รูปธรรมชัดเจน

วิธีการแก้ปัญหาต่างจาก พรรคก้าวไกล ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล และสรุปเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อรัฐบาล ประเด็นนี้ต้องตัดเรื่องการเมืองหรือการดิสเครดิตทางการเมือง ออกไป แล้วเปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นต่าง โดยเอาความเดือดร้อนของประชาชนต้องมาก่อน

ในรายงานของก้าวไกลระบุว่า ไฟป่า ฝุ่นพิษ ในปีหน้าจะหนัก กว่าปีนี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ตอนนี้ เริ่มลามจาก กทม. ภาคเหนือตอนบน ไปยังภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสาน เช่น จ.หนองคาย อุบลราชธานี ยังเหลือภาคใต้ภาคเดียวที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ

ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน มีผลกระทบรุนแรงมากที่สุด เฉลี่ยพื้นที่ฝุ่นพิษเกิน 4 เท่าของค่ามาตรฐาน บางพื้นที่ เป็น สีม่วง ต่อเนื่องถึง 14 วัน ซึ่งตามข้อเท็จจริงก็คือถ้าเป็นพื้นที่สีม่วงเกินกว่า 5 วัน ก็ต้องประกาศ เป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าจุดที่เป็นพื้นที่สีม่วงจะอยู่ติดกับบริเวณชายแดนของประเทศ จึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการแล้ว

มาตรการอื่นๆ เช่น เอาจริงเอาจังกับการเผาป่าให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ การชิงเผา ต้องบริหารจัดการให้ดี เพราะอาจทำให้ความสมบูรณ์ของป่าลดลง และการทำแนวกันไฟ เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ปัญหาที่พบคือ มีการเริ่มต้นช้าไป รัฐควรสนับสนุนอุปกรณ์การดับไฟป่าให้พอเพียงกับการใช้งานของเจ้าหน้าที่ เพราะไฟป่ามี ความสูง และเป็นอันตราย บางพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปดับไฟได้เนื่องจากขาดอุปกรณ์

...

การขาดแคลนงบประมาณ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เมื่อดูจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น

ควรตั้งศูนย์ระวังไฟป่า ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.ที่มักจะเกิดไฟป่าขึ้นมากที่สุด การห้ามซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟป่าบางชนิด เช่น เครื่องเป่าลม ทำให้มีเครื่องมือจำนวนจำกัด บางอุทยานรับผิดชอบพื้นที่ป่าเป็นแสนไร่ แต่มีเครื่องเป่าลมแค่ 4 เครื่อง เป็นต้น

สุดท้ายก็คือเอาจริงเอาจังกับนายทุนที่สนับสนุนให้เกิดการเผาป่า เช่น การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรตรวจสอบว่ามาจากพื้นที่ที่มีการเผาป่าหรือไม่ เพื่อเป็นการกดดันให้ลดการเผาป่าลงมา

คงไม่ต้องอธิบายอะไรให้เมื่อยตุ้ม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม