"ปลัดแรงงาน" เผย ผลประชุม สภาหอการค้า-สภาอุตสาหกรรมฯ ไม่ค้าน ปรับค่าจ้าง 400 แต่ขอให้เป็นไปตามมติบอร์ดไตรภาคี ปรับเป็นรายจังหวัดยอมรับได้ ต้องไม่เท่ากันทั้งประเทศ
วันที่ 13 พ.ค. 67 ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังหารือร่วมกับตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงผลกระทบปรับค่าจ้าง 400 บาท ว่า จากการหารือ ผู้แทนแต่ละท่านเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ขึ้นทั้งประเทศพร้อมกัน เพราะบางกิจการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจนทำให้ธุรกิจมีปัญหาได้ เช่น เอสเอ็มอี ร้านขายของชำต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ โดยจะโฟกัสเป็นบางประเภทกิจการ และจะให้ทางอนุกรรมการจังหวัดไปพิจารณากรอบแนวทางการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดเพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป
"จากมติดังกล่าวผมฟังแล้วก็ดีใจแทนลูกจ้าง และขอย้ำว่าบจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 แน่นอน ต้องโฟกัสเป็นบางกิจการ" นายไพโรจน์ กล่าว
ด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าฯ กล่าวว่า เรายินดีที่ให้รัฐบาลยกระดับรายได้แรงงาน แต่ขอให้ฟังหลายๆ ฝ่าย เพราะถ้าขึ้น 400 บาททั้งประเทศจะกระทบกับหลายกิจการ เช่น ตลาดสด เอสเอ็มอี แรงงานภาคเกษตร ซึ่งใช้แรงงานเป็น 10 ล้านคน ควรให้เวลาเขาปรับตัว ใครพร้อมก็ค่อยๆ ปรับ และวันนี้ที่คุยกับปลัดกระทรวงแรงงานก็ยังต้องคุยกันอีกหลายครั้ง ซึ่งหากถามผู้ประกอบการหากขึ้น 400 บาททั้งประเทศ กว่า 80% จะอยู่ไม่ได้ คนที่กระทบหนักจริงคือชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้า ก่อสร้าง ค้าปลีก ค้าส่ง เป็นต้น และถือเป็นครั้งแรกที่หอการค้าทั้ง 76 จังหวัด สมาคมการค้า 92 สมาคม เป็นเจ้าของโรงงาน และผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 1.5 หมื่นแห่ง ยื่นค้านพร้อมกัน เราขอให้ปรับยกระดับรายได้ตามกรรมการไตรภาคี และอนุฯ จังหวัด หากเห็นพ้องต้องกันตามสภาพแต่ละจังหวัด เราพร้อมสนับสนุน แต่ก็ต้องเห็นใจผู้ประกอบการรายย่อยด้วย
...
ด้านนายสุชาติ จันทรานคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราเห็นด้วยในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในปีนี้ปรากฏว่ามีการปรับค่าจ้างแล้วครั้งแรกในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ครั้งที่ 2 ปรับวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา แล้วจะมาปรับอีกเป็นครั้งที่ 3 ในเดือน ต.ค. ซึ่งตนคิดว่าเป็นการปรับค่าจ้างที่ไม่สมเหตุผลตามดัชนีชี้วัด แต่เราก็ให้ความร่วมมือในการหารือว่าจะทำอย่างไรให้มีการปรับค่าจ้างมีความเป็นธรรมทั้งต่อฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ต้องอยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ นายจ้างจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ลูกจ้าง ถ้าผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปก่อน.