ย้ำไทม์ไลน์ การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ปี 2567 หลังพระราชกฤษฎีกา ประกาศใช้ เปิดรับสมัคร 13 พ.ค. และประกาศผลรับรองในวันที่ 2 ก.ค. เตือนห้ามทำผิดกฎแนะนำตัว

ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 อีกทั้งวันดังกล่าว ยังเป็นวันสุดท้ายของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงหมายความว่า สว.ชุดใหม่ กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

สำหรับไทม์ไลน์ การเลือก สว. 2567 มีดังนี้

  • 10 พ.ค. 2567 ผู้สนใจลงสมัคร สว. ติดต่อขอรับเอกสารการสมัครจากนายทะเบียนอำเภอ ทั่วประเทศ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นสำหรับกรุงเทพมหานคร
  • 13 พ.ค. 2567 รับสมัคร สว.
  • 9 มิ.ย. 2567 วันเลือก สว.ระดับอำเภอ
  • 16 มิ.ย. 2567 วันเลือก สว.ระดับจังหวัด
  • 26 มิ.ย. 2567 วันเลือก สว.ประเทศ
  • 2 ก.ค. 2567 วันประกาศผลรับรองการเลือก สว.


ข้อห้ามในการแนะนำตัวของ สว.

ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว 

และนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(2) ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว

(3) แจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวางโปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ

...

(4) แนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

(5) แนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

(6) จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้

ตลอดจน ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ

สำหรับกลุ่มการสมัครรับเลือก สว. มีด้วยกัน 20 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

3. กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

4. กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามกลุ่มที่ 9

11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


14. กลุ่มสตรี


15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน


20. กลุ่มอื่นๆ (กรณีคลุมเครือ ไม่สามารถระบุไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้)