"พัชรวาท" ปลื้ม! ป่าชายเลนไทยเพิ่มขึ้น กำชับ "กรมทะเล" อนุรักษ์ป่าชายเลนร่วมภาคี Thailand Mangrove Alliance เน้น 3 หลัก เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม รับ วันป่าชายเลนแห่งชาติ

วันที่ 10 พ.ค. 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ตนเองในฐานะตัวแทนคนไทยรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตานานาประเทศ และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และภาคีป่าชายเลน ประเทศไทย หรือ Thailand Mangrove Alliance ขององค์กรผู้ร่วมอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลน ทั้ง 33 องค์กร พร้อมเปิดกิจกรรมวันป่าชายเลนแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Thailand Mangrove Alliance” ณ ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ ในการนี้ กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญถึงหลักการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมาโดยตลอด รวมถึงขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ที่กรม ทช. จัดทำขึ้นร่วมกับภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งภายหลังจากที่มีการดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผืนป่าชายเลนในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น

...

โดยตนพูดได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของประชาชนและทุกภาคส่วนที่ช่วยกันดูแล รักษา ฟื้นฟู จนผืนป่าชายเลนกลับคืนสภาพสมบูรณ์ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคีภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยยึดหลัก 3 เสา ซึ่งเป็นหลักของมิติความยั่งยืน ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีน้ำเงิน สนับสนุนการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนในชุมชนป่าชายเลน พัฒนาศักยภาพของป่าชายเลนให้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่ม และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน

2. สังคม ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ที่ดี ส่งเสริมให้ชุมชน เยาวชน มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และจัดการป่าชายเลนอย่างมีประสิทธิภาพ

และ 3. สิ่งแวดล้อม ปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลน รักษาสมดุลของระบบนิเวศ ลดมลพิษที่ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเสื่อมโทรม ดำเนินการเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความมั่นคงทางระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอนุรักษ์และดูแลป่าชายเลน ตนได้กำชับ กรม ทช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ให้นำแนวพระราชดำรัสดังกล่าว เป็นหลักในการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ควบคู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ สุดท้ายนี้ ตนขอเน้นย้ำและเชิญชวนให้ประชาชนรวมถึงทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญในทรัพยากรป่าชายเลน โดยเริ่มต้นจากปลูกฟื้นฟูป่าชายเลน พร้อมทั้งช่วยกันดูแล รักษา ให้ต้นกล้าที่ปลูกได้เติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่ง สามารถเป็นเกาะป้องกันคลื่นลมจากทะเล เป็นแนวกำบังภัยธรรมชาติ อีกทั้งช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งและรักษาสมดุลระบบนิเวศชายฝั่ง ตลอดจนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของมนุษย์ที่สามารถนำมารับประทานและสร้างรายได้ตลอดทั้งปี เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและอนาคตของทุกคนให้คงอยู่สืบไป

สำหรับการจัดกิจกรรม “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ในปีนี้ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันป่าชายเลนแห่งชาติ โดยปี 2567 ได้กำหนดแนวคิด “Thailand Mangrove Alliance” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับองค์กรภาคีภาคเอกชน ทั้ง 33 องค์กร ที่เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ MOU ไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 67 เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านภาคี Thailand Mangrove Alliance ที่มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือ ส่งเสริมความรู้ สนับสนุนการอนุรักษ์ ขับเคลื่อนการวิจัย และสร้างเครือข่ายทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค ท้องถิ่น และระดับสากลให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการวันป่าชายเลนแห่งชาติ และนิทรรศการภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนชายฝั่ง รวมถึงนิทรรศการจากองค์กรต้นแบบที่สนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชายเลน และชายฝั่งของชุมชนชายฝั่งอย่างยั่งยืน อีกทั้งมอบเงินอุดหนุนจากกรม ทช. เพื่อสนับสนุนแผนงาน โครงการของชุมชนชายฝั่ง แก่ผู้แทนชุมชนชายฝั่ง จำนวน 6 ภูมินิเวศ ประกอบด้วย ภาคตะวันออก อ่าวไทยตอนบน อ่าวไทยตอนกลาง อ่าวไทยตอนล่าง อันดามันตอนบน อันดามันตอนล่าง จำนวน 24 จังหวัดชายฝั่ง รวม 289 ชุมชน/โครงการ งบประมาณรวม 6,000,000 บาท พร้อมกันนี้ ได้ร่วมมือกันประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือภาคีป่าชายเลน ประเทศไทย ขององค์กรผู้ร่วมอนุรักษ์และพัฒนา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลน จำนวน 33 องค์กร อีกทั้งร่วมกันปลูกต้นกล้าพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เนื่องในวันป่าชายเลนแห่งชาติอีกด้วย

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ กล่าวว่า เนื่องในวันป่าชายเลนแห่งชาติ 10 พฤษภาคม 2567 ตนในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อน้อมรำลึกและสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชดำรัสไว้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 และเพื่อให้ป่าชายเลนมีความสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถเอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืนต่อมนุษยชาติในรุ่นหลัง ป่าชายเลนนับว่าเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้สูง ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันการบริหารจัดการป่าชายเลนเพื่อความยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้กลไกที่เหมาะสม กิจกรรมที่หลากหลาย มุ่งหวังผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น การสร้างภาคีเครือข่ายป่าชายเลน จึงเป็นก้าวแรกในความร่วมมือระหว่างชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ที่จะมาร่วมกันดูแล รักษา อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งศึกษาเรียนรู้ และแหล่งสร้างรายได้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน