“สภาองค์การนายจ้างฯ” ออกแถลงการณ์ กังวล ปรับค่าแรงขั้นต่ำ มองเป็นเรื่องการเมือง หรือการพัฒนาประเทศ ขอพิจารณาตามหลักไตรภาคีอย่างสมเหตุสมผล 24 พ.ค. จัดเสวนาหัวข้อ “ค่าจ้างขั้นต่ำ : การเมืองหรือการพัฒนาประเทศ” 

วันที่ 10 พ.ค. สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า มีความกังวลและเป็นห่วงว่าการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยจากอดีตที่ผ่านมา มีความเป็นเหตุเป็นผลจากการพิจารณาร่วมกันของไตรภาคี คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง

ซึ่งในการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากอดีตที่ผ่านมา ได้คำนึงถึงค่าครองชีพ แรงงานที่มีฝีมือกับแรงงานที่ไม่มีฝีมือ ประกอบภาวะเศรษฐกิจและภาระค่าจ้างของนายจ้างเป็นสำคัญ คณะกรรมการค่าจ้างที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย ต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องการเพียงคะแนนนิยมจากการเลือกตั้ง และจะทำให้ดุลยภาพของการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำเสียหาย ซึ่งกระทบต่อบรรยากาศที่จะส่งเสริมการลงทุนของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำควรคำนึงถึงหลักการพื้นฐานข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาวต่อสภาพการจ้างงานและภาระค่าจ้างของนายจ้าง โดยเฉพาะ SME และบรรยากาศการลงทุนในอนาคต

สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสภาองค์การนายจ้างและสมาคมนายจ้างในระบบไตรภาคี เตรียมจัดเสวนาหัวข้อ “ค่าจ้างขั้นต่ำ : การเมืองหรือการพัฒนาประเทศ” เพื่อชี้ประเด็นให้เห็นถึงหลักการสากลเพื่อพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมวิเคราะห์ให้เห็นพัฒนาการการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศในอดีตที่ผ่านมา ผลกระทบการเมืองกับการพัฒนาค่าจ้างขั้นต่ำ สร้างปัญหาหรือแก้ปัญหาของประเทศ ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นี้

...