“พีระพันธุ์” ยัน คกก.กฤษฎีกา ไม่ได้ทักท้วง 3 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน บิดเบือนกลไกตลาด ในที่ประชุม ครม. ระบุชัดเป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชน เผย เตรียมแก้กฎหมายพลังงาน ดึงการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันมาดูเอง

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็น 3 มาตรการ ในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ตรึงราคาขายปลีก LPG และให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ไปก่อนหน้านี้ มีความเสี่ยงกระทบกับกลไกตลาด และคนใช้ฟุ่มเฟือย โดยนายพีระพันธุ์ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มี ไปตามข่าวมาจากไหน เพราะตนนั่งในที่ประชุม ครม. ไม่มีเตือนใดๆ ว่าหากอุดหนุนมาตรการต่อเนื่องจะเป็นการบิดเบือน และการช่วยเหลือประชาชนในด้านนี้ไม่ดีตรงไหน ส่วนข้อกังวลจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ตนไม่เห็น 

นายพีระพันธุ์ กล่าวย้ำว่า การจะของบกลางมาช่วยในมาตรการดังกล่าวก็ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ติดลบอยู่ในขณะนี้ ก็เห็นว่าเดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมันตามระเบียบเดิมเมื่อปี 2516 ได้มีการตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมา ไม่มีกฎหมายรองรับ และสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถูกรองรับให้ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 2562 โดยก่อนปี 2562 ใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 มาโดยตลอด โดยในคำสั่งนี้ให้อำนาจกองทุนน้ำมันฯ ดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับราคาน้ำมัน คือทำได้ 2 ขา โดยขาหนึ่งคือ ใช้เงินในกองทุนน้ำมันฯ ส่วนอีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดกำหนดเพดานภาษี ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ มีอำนาจกำหนดเพดานภาษี แต่ไม่มีอำนาจในการเก็บภาษี ดังนั้นก็สามารถใช้ 2 ขานี้ในการตรึงราคาหรือช่วยดูแลประชาชนได้นอกจากใช้เงินอย่างเดียว โดยใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวควบคุมได้ด้วย 

...

เมื่อกระทรวงพลังงานกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือกระทรวงการคลัง แต่เมื่อการออกกฎหมายเมื่อปี 2562 ไปตัดอำนาจกำหนดเพดานภาษีของกองทุนน้ำมันฯ ออกเหลือแต่การเงินอย่างเดียว ดังนั้นตัวเลขของกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นหนี้จำนวนมากหรือติดลบตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เนื่องจากการกำหนดเพดานภาษีซึ่งเคยเป็นอำนาจของกองทุนไม่มีแล้ว ครั้งนี้จึงพยายามที่จะขอให้ทางกระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่ไม่เห็นด้วย แต่ทั้งนี้เดิมเป็นอำนาจของกองทุนน้ำมันฯ ที่สามารถกำหนดเพดานได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขต่อไป โดยต้องเอาอำนาจในการเก็บเพดานภาษีมาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน เมื่อเป็นสินค้าของกระทรวงพลังงาน 

ส่วนกรณีที่สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยกังวลว่าการปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 33 บาท จะเป็นการแบกรับภาระค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นนั้น นายพีระพันธุ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาพยายามจะช่วยเหลือภาคขนส่งมาโดยตลอด ตนก็ได้รับการร้องเรียนมาด้วยเช่นกัน แต่เวลาลดราคาน้ำมัน ภาคขนส่งก็ไม่ลดราคาให้ประชาชนบ้าง ซึ่งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล รัฐบาลก็มีความพยายามตรึงในราคาที่เท่าที่ทำได้ ก่อนหน้านี้ดำเนินการอยู่ที่ราคาลิตรละ 30 บาท ตอนนี้ยังตรึงในราคานี้ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมากว่า 50 ปี ใช้วิธีการตรึงราคาด้วยเงิน จึงอยู่ที่เงินในกระเป๋า เงินมากก็ตรึงได้มาก เงินน้อยก็ตรึงได้น้อย 

“ขณะนี้เงินน้อยก็ต้องตรึงราคาได้น้อย แต่หากเก็บเงินเพิ่มได้ใหม่ ก็สามารถตรึงราคาได้อีก แต่ว่าระบบนี้และวิธีการเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผมพูดมาเสมอว่าไม่เห็นด้วย เพราะการใช้เงินไปตรึงไม่ใช่วิธีที่ถูก จำเป็นต้องปรับระบบใหม่ ซึ่งกำลังดำเนินการทำอยู่ โดยจะต้องเขียนกฎหมายใหม่ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ และจะใช้เวลาไม่นาน เพราะผมได้เขียนเสร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว”.