“เกณิกา” เผย ครม. อนุมัติหลักการกรอบวงเงิน 700 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (7 พฤษภาคม 2567) มีมติอนุมัติหลักการกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 (งานเฉลิมพระเกียรติฯ) จำนวน 700 ล้านบาท
สำหรับการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดและค่าใช้จ่ายของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และนำเสนอคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ งานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ความเห็นชอบ เมื่อส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบผลการพิจารณาแล้ว ให้นำเสนอรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ (สงป.) โดยตรง ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป
ในส่วนของสาระสำคัญ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รายงานว่า คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในด้านงานพิธีการ การจัดโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และการจัดงานอื่นๆ ในนามรัฐบาล ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติทุกประการ
...
ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 มีมติเห็นชอบมอบหมายให้ สปน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรอบวงเงินทั้งสิ้น 700 ล้านบาท แบ่งเป็น กรอบวงเงินที่คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ งานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว จำนวน 7 รายการ วงเงิน 304.82 ล้านบาท และกรอบวงเงินที่ยังไม่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองฯ จำนวน 395.18 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในช่วงก่อนและหลังวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ สรุปได้ดังนี้
1. กรอบวงเงินงบประมาณที่คณะกรรมการกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ งานเฉลิมพระเกียรติฯ เห็นชอบในหลักการแล้ว 304.82 ล้านบาท
(1) คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการ งานเฉลิมพระเกียรติฯ 283.07 ล้านบาท
(1.1) คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 231.48 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในการเตรียมความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 179.85 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงกลาโหม (กองทัพเรือ)
- การจัดสร้างเครื่องแต่งกายสำหรับใช้ในงานพระราชพิธีริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค 3.63 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : สำนักพระราชวัง
- ค่าใช้จ่ายในงานซ่อมแซมเรือพระราชพิธีและงานประดับตกแต่งอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี 48.00 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
(1.2) คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ 17.20 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงมหาดไทย (มท.)
(1.3) การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย งานเฉลิมพระเกียรติฯ 34.40 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงวัฒนธรรม (กรมการศาสนา)
(2) คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติฯ 21.75 ล้านบาท
(2.1) ค่าใช้จ่ายในการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก 19.75 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงวัฒนธรรม (กรมศิลปากร)
(2.2) ค่าใช้จ่ายในการจัดทำหนังสือที่ระลึกพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ 2 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงมหาดไทย
2. กรอบวงเงินงบประมาณที่ยังไม่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองขอใช้งบประมาณงานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งใช้สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายฯ คณะอนุกรรมการฝ่ายฯ หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจ 395.18 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดและค่าใช้จ่ายของภารกิจที่ได้มอบหมายในช่วงก่อนและหลังวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และนำเสนอคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณงานเฉลิมพระเกียรติฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด เช่น เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ, ไม่มีงบประมาณของหน่วยงานรองรับ และ/หรือหน่วยงานไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานได้ หรือสามารถปรับแผนฯ ได้ แต่งบประมาณ ไม่เพียงพอในการดำเนินการ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณโดยตรง ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562