ความขัดแย้งระหว่าง รัฐบาลเพื่อไทย กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำท่าจะบานปลาย เมื่อมีข่าวว่า จะมีการเสนอ แก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ไม่สนองนโยบายพรรคลดดอกเบี้ยของเพื่อไทย เหมือนสมัยที่ คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ สั่งปลด “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายคุณทักษิณ ที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่การคิด ปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ ของ พรรคเพื่อไทย สมัยนี้คงไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน

เพราะหลังจากที่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถูก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ปฏิวัติยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 และแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีกระทรวงการคลังยุคนั้นได้เสนอแก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติเดิมเป็น พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 เพื่อแยกอำนาจฝ่ายการเมืองออกจากแบงก์ชาติ ให้แบงก์ชาติมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ไม่ให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงนโยบายการเงินและมีการแก้ไขเรื่องการปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติของฝ่ายการเมืองทำได้ยากขึ้น กฎหมายใหม่แบงก์ชาติมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 4 มีนาคม 2551 มาจนถึงวันนี้

การคิดแก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติกลับไปยุคเก่า ให้อำนาจการเมืองปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ คงจะไม่ง่ายอย่างที่คิดหวัง แม้จะมีเสียงข้างมากในสภาก็ตาม

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สว. อดีตรองประธาน กมธ.พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 เปิดเผยว่า ตอนที่มีการยกร่างขึ้นมา ทางผู้ยกร่างกฎหมายต้องการแยกอำนาจของฝ่ายการเมืองออกจากแบงก์ชาติ เพื่อให้แบงก์ชาติมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน แล้วให้รัฐมนตรีคลังรับผิดชอบเรื่องการคลัง เป็นหลักการที่ประเทศในโลกเสรีใช้กัน และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ทางกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.ธปท. จึงเขียนกฎหมายไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงนโยบายการเงิน และมีการแก้ไขเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการแบงก์ชาติ เดิมรัฐบาลสามารถเอาคนของกระทรวงการคลังไปเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติได้เลย แก้ไขให้รัฐมนตรีคลังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคัดเลือก และ แก้ไขเรื่องการให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติพ้นจากตำแหน่งทำได้ยากขึ้น

...

ดร.สังศิต กล่าวว่า เมื่อก่อนรัฐบาลมีอำนาจเหนือผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไม่พอใจก็เปลี่ยนตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติได้เลย แล้วส่งคนของเขาไปนั่งแทน คณะผู้ยกร่างเห็นว่า ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป โอกาสที่แบงก์ชาติจะถูกแทรกแซงก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย หัวใจของกฎหมายแบงก์ชาติปัจจุบันก็คือ ทำให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติได้ยาก

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า รัฐบาลเพื่อไทยคิดจะโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูที่มีอยู่ 6 แสนล้านบาทไปให้แบงก์ชาติ เพื่อลดหนี้สาธารณะ จะได้มีช่องว่างกู้เงินเพิ่มได้อีก แต่เรื่องนี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 กองทุนเข้าไปอุ้ม ธนาคารกรุงไทย ด้วยการเข้าถือหุ้นธนาคารกรุงไทยจากมูลหนี้ 3 แสนล้านบาท หากโยกหนี้กองทุนออกไป ก็ต้องขายกลับกระทรวงการคลัง 3 แสนล้านบาท เหมือนการสวอปหุ้นกับคลัง ไม่มีผลทำให้หนี้สาธารณะลดลง เป็นการย้ายบัญชีบริหารหนี้เท่านั้น

ส่วนเรื่อง การลดดอกเบี้ย ที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องการ ดร.ประสาร ให้ความเห็นว่า

เสียงส่วนใหญ่พิจารณาคงดอกเบี้ย เพราะข้างหน้าไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะออกมากู้เงินอีกมากน้อยแค่ไหน ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากกู้จำนวนมาก อาจกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเพิ่มขึ้นได้ หากให้ลดดอกเบี้ยแล้วต้นทุนการเงินกลับเพิ่ม ตลาดเงินอาจสับสน และอาจมองว่าประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินไม่ดีเท่าที่ควร วันนี้ดอกเบี้ยไทย 2.5% สหรัฐฯกว่า 5% ห่างกันค่อนข้างมาก และเฟด มองว่าอาจคงดอกเบี้ยต่อไปอีกหลายเดือน ดังนั้น เราต้องให้นํ้าหนักเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ยิ่งไปลดดอกเบี้ย เงินทุนจะยิ่งไหลออก ไม่ไหลเข้า การลดดอกเบี้ยก็จะยิ่งซํ้าเติม แม้ไม่ลดดอกเบี้ยวันนี้ เงินทุนก็ไหลออกไปทุกวัน ไปหากำไรส่วนต่างในตลาดอื่นแทน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม