โฆษกคลัง เผย นายกฯ สั่งเร่งรัดงบประมาณปี 67 เต็มพิกัดมาโดยตลอด บัญชีกลาง ชู 8 มาตรการ เร่งดันงบค้างท่อ ทั้งลดเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง - เผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป
วันที่ 2 พ.ค. นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อสารมวลชนบางรายเขียนลงในคอลัมน์เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเห็นว่ารัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 นั้น
กระทรวงการคลัง ขอเรียนว่าข้อมูลที่ปรากฏในสื่อดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้สั่งการและมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
1. มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ
กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้ออกแนวทางการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้
1.1 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการ หรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่าย หรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป
1.2 รายการปีเดียว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567
1.3 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้ดำเนินการ
ก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567
...
1.4 ให้หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งทุนหมุนเวียนภายใต้สังกัด กำกับดูแลเร่งรัด
การดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผล
ให้กรมบัญชีกลาง ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
1.5 ดำเนินการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้
เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนภายในเดือนกรกฎาคม 2567
1.6 สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
จากสำนักงบประมาณ และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้แล้ว ให้เร่งลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงเป็นหนังสือโดยเร็ว
2. มาตรการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
2.1 การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 5,000,000 บาท
2.2 การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป
(1) การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ
(2) การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
โดยระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ
ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงการคลังและคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จึงได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย
งบลงทุนหลายประการ เช่น การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบงบลงทุนเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารสูงสุด การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเร่งลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณในการลงทุน เตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ทันที เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น