"วัชระ" อดีต สส.ปชป. ยื่น ป.ป.ช.สอบนายกฯ ชงตั้ง “พิชิต” รมต.สำนักนายกฯ ยกคำพิพากษาศาลฎีกาสั่งคุก 6 เดือน พ่วงถอนตั๋วทนายฯ ชี้ทำผิดมาตรฐานจริยธรรม 6 ข้อ

เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 29 เม.ย. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน เพื่อขอให้ไต่สวน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่อว่ากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ในการแต่งตั้งให้ นายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยเอกสารคำร้องระบุว่า “เรียน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. อ้างถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้เสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศลงวันที่ 28 เมษายน 2567 แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ทั้งนี้สืบเนื่องจาก นายพิชิต ชื่นบาน เคยถูกสภาทนายความถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2551 กรณีพยายามนำถุงขนมใส่เงินสดจำนวน 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของนายทักษิณ ชินวัตร และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4599/2551 ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า

...

“…มีเจตนาที่จูงใจให้......และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/๒๕๕๐ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา.... จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑ (๑), ๓๓ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ..การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา.... เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ ผู้ถูกกล่าวหา.....ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา... จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป....”

เอกสารระบุอีกว่า คำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นทำให้เห็นว่า นายพิชิต ชื่นบาน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่อว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 หรือไม่ ดังนี้

ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อ 12 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน

ข้อ 13 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติโดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ

ข้อ 17 ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตำแหน่ง

ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายโดยเร่งด่วน หากผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าและพี่น้องประชาชนทราบโดยเร็วที่สุดด้วย จักขอบคุณยิ่ง.