ก.ต.ช. ชี้สเปก “ผบ.ตร.” ในใจประชาชน "ซื่อสัตย์ สามัคคี ไม่พัวพันเงินสีเทา เข้าถึงประชาชน" รับคนเบื่อข่าว "บิ๊กตร." ขัดแย้ง แนะ ปั๊มผลงานฟื้นศรัทธาก่อนล่มสลาย
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 67 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ปรึกษามูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลสำรวจเรื่อง “ตำรวจของประชาชน” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,207 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา พบว่า ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามประชาชนถึง คุณสมบัติ (Spec) ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปที่ประชาชนต้องการ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 75.5 ระบุ เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต รองลงมา ร้อยละ 71.4 ระบุ สร้างความสามัคคีในองค์กรตำรวจ ร้อยละ 68.2 ระบุ ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่พัวพันกับเงินผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.8 ระบุ เข้าถึงประชาชน ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และร้อยละ 63.2 ระบุ เร่งฟื้นฟูศรัทธาของประชาชน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงความรู้สึกเบื่อหน่าย ข่าวนายตำรวจระดับสูงขณะนี้พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.2 ระบุเบื่อมากถึงมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 16.7 ระบุ เบื่อค่อนข้างมาก ร้อยละ 9.4 ระบุ เบื่อค่อนข้างน้อย และร้อยละ 11.7 ระบุ เบื่อน้อยถึงไม่เบื่อเลย
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามต่อถึงความเห็นต่อตำรวจที่ตกเป็นข่าวในทางลบกระทบภาพลักษณ์ขณะนี้พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 89.9 ระบุ ตำรวจควรเร่งทำงาน สร้างผลงาน ความปลอดภัยของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 74.1 ระบุ เรื่องของตำรวจควรจบได้แล้ว และร้อยละ 72.8 ระบุ ตำรวจที่ตกเป็นข่าวควรชี้แจงว่าตนเองบริสุทธิ์อย่างไร
...
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงผลงานของตำรวจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่ประชาชนรู้และพึงพอใจ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 64.8 ระบุ การติดตามจับกุมคนร้าย รองลงมา ร้อยละ 56.0 ระบุ ตรวจตรา ดูแลความปลอดภัยยามค่ำคืน ร้อยละ 54.5 ระบุ การแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 53.3 ระบุช่วยเหลือทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน และ ร้อยละ 51.8 ระบุ การปราบปรามเว็บพนัน มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษา มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนฯ กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนต้องการข้อมูลจำเพาะ หรือสเปก (Spec) คุณสมบัติ 5 ประการของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปคือ (1) ซื่อสัตย์สุจริต (2) สร้างความสามัคคีภายในองค์กร (3) ไม่มีประวัติด่างพร้อยเกี่ยวข้องกับเงินผิดกฎหมาย (4) เข้าถึงประชาชน ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และ (5) เร่งฟื้นฟูศรัทธาของประชาชน
ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนฯ กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายต่อข่าวนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ในขณะที่เพราะประชาชนอาจจะเห็นความชัดเจนในข้อมูลบางอย่างของเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ประชาชนต้องการให้ตำรวจเร่งทำงาน สร้างผลงาน ความปลอดภัยของประชาชน เรื่องราวของตำรวจในสื่อควรจบได้แล้ว เพราะประชาชนต้องการให้ตำรวจเป็น “ตำรวจของประชาชน” ที่มีหน้าที่และอำนาจหลักคือรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยของประชาชนมากกว่า
ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนฯ กล่าวต่อด้วยว่า แม้หลายคนอาจจะคิดว่าองค์กรตำรวจกำลังล่มสลาย ศรัทธาของประชาชนลดลง แต่ขอเสนอมุมมองให้เห็นความเป็นจริงบางอย่างว่า ตำรวจเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินมาร่วม 170 ปีแล้ว ก่อเกิดขึ้นครั้งแรกเป็น “กองโปลิศ” ในสมัยรัชกาลที่ 4 นายตำรวจผู้ใดสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ก็จะร้อนรนใจทนอยู่ไม่ได้ และจะแพ้ภัยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางกระแสข่าวลบต่อสถาบันตำรวจ แต่ผลโพลพบว่า ตำรวจส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่เป็น ตำรวจของประชาชน เพราะ ประชาชนยังคงพึงพอใจต่อการทำงานของตำรวจใน 5 อันดับแรก ได้แก่ การติดตามจับกุมคนร้ายการตรวจตราดูแลความปลอดภัยของประชาชนยามค่ำคืน การแก้ไขปัญหายาเสพติด การช่วยเหลือทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน และการปราบปรามเว็บพนัน มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ที่กำลังเห็นผลงานของตำรวจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตำรวจน้ำดีจะทนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้ จึงยังคงอดทนอดกลั้นกับกระแสข่าวลบต่อองค์กรตำรวจ และกำลังมุ่งหน้ารุกฆาตจัดการกวาดล้างขบวนการมิจฉาชีพและขบวนการที่เป็นภัยคุกคามเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ และความปกติสุขของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ.