สว.สมชาย ลั่น ไม่จริง จ่อฟ้องกลับ iLaw หลังแฉตัดแปะข้อมูลในดุษฎีนิพนธ์ ยอมรับตกหล่น อ้างอิงในบทการทบทวนวรรณกรรม แต่ได้มีการขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อแก้ไข และได้รับการอนุมัติให้แก้ไขให้ครบถ้วนแล้ว
วันที่ 20 เม.ย. 67 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า หลังจาก iLaw โพสต์กล่าวหาว่า มีการคัดลอกข้อมูลเพื่อมาเขียนดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกของตน ไอลอว์ แฉ “สว.สมชาย” เล่มจบป.เอก ลอกงานคนอื่นหลายจุด-เจ้าตัวยังไม่เคลื่อนไหว ว่า “ไม่เป็นความจริง” ยืนยันว่าได้ทำงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ ตนศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ในการเรียนกฎหมายมหาชน ของสถาบันพระปกเกล้า เป็นเอกสารกลุ่มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงเรื่อง “ระบบรัฐสภาและกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” และสนใจเรื่องนี้มาโดยตลอด จนมาต่อยอดในการศึกษาปริญญาเอก โดยดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ได้มีรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง สสร.เก่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 และ 2560, อดีต สส.และ สว.ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง มีการทำ Focus Group นักวิชาการและประชาชน และการวิจัยเชิงปริมาณโดยการใช้แบบสอบถามประชาชนถึง 645 ตัวอย่าง
ส่วนในบทการทบทวนวรรณกรรม ได้นำรัฐธรรมนูญ 2560 มาวิเคราะห์ร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา และบทความในและต่างประเทศ ซึ่งมีการอ้างอิงและนำมาใช้ในงานวิจัยกันทั่วโลก อันไหนที่เห็นว่าดีเหมาะสมก็นำข้อมูลมาใส่ ซึ่งในบทการทบทวนวรรณกรรมไม่ใช่บทผลการวิจัย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นยอมรับว่าตกหล่นในส่วนของเชิงอรรถและบรรณานุกรม การอ้างอิงที่อยู่ในบทการทบทวนวรรณกรรม ที่เกี่ยวข้องกับนักวิจัยท่านหนึ่งของสถาบันแห่งหนึ่ง และได้มีการแก้ไขแล้ว ดั้งนั้นสิ่งที่ iLaw เขียนนั้นถือว่าบิดเบือน
นายสมชาย กล่าวย้ำว่า ส่วนที่ถูกอ้างถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการวิจัยของตนแต่อย่างใด แต่อยู่ในส่วนของการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ซึ่งเป็นหลักการทำวิจัยทั่วไปที่จะมีบทการทบทวนวรรณกรรมทั้งในและต่างประเทศของงานวิจัยที่น่าสนใจสอดคล้องกับสิ่งที่เราจะทำวิจัย เรายกย่องจึงได้นำข้อมูลมาทบทวนแล้วอ้างอิงแหล่งที่มาในรูปแบบเชิงอรรถและบรรณานุกรม โดยในเล่มนี้มีการอ้างอิงมาตลอด แต่มีเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องสองเล่มที่เขียนจากท่านเดียวกัน ซึ่งตนได้อ้างอิงไว้แล้วหนึ่งเล่ม จึงทำให้เกิดการตกหล่น เป็นความผิดพลาดทางเอกสารที่ตนยอมรับ ได้มีการขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อแก้ไข และได้รับการอนุมัติให้แก้ไขให้ครบถ้วนแล้ว สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของห้องสมุดธรรมศาสตร์
ดังนั้น การที่ iLaw นำเสนอจึงถือเป็นการให้ข้อมูลอันทำให้เกิดการเข้าใจผิด หรือเป็นข้อมูลเท็จทำให้ตนเสียหาย ระหว่างนี้กำลังดำเนินการรวบรวมหลักฐานเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดีหรือไม่.
...