รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ติดตามกองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนา จุดเริ่มต้นยุครัฐบาลทักษิณ เตรียมดันเป็นต้นแบบของกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ ดึงประชาชนมีส่วนร่วม เดินหน้า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส”
วันที่ 17 เมษายน 2567 ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของกองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
กองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2546 ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 469 คน ได้รับการจัดสรรงบประมาณการดำเนินงานตั้งต้นจากรัฐบาลในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากนั้นได้รับงบประมาณสมทบ ระยะที่ 2-3 ในยุคของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเงินจำนวน 1,200,000 บาท และได้รับการสมทบในระยะต่อมาอีกจำนวน 1,200,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้รับเงินกู้จากธนาคารออมสิน สาขาโชคชัย 4 เป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาท เพื่อซื้ออาคาร นำมาจัดทำเป็นร้านค้าสวัสดิการกองทุนฯ และแบ่งเช่า สร้างรายได้ให้กองทุนฯ อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันทางกองทุนฯ มีเงินหมุนเวียน รวมทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านบาท โดยมีการจัดสรรเป็นเงินปันผลให้แก่สมาชิก และสวัสดิการต่างๆ และยังมีการนำเทคโนโลยีมีใช้กับการชำระกู้ ทำให้สามารถติดตามการบริหารจัดการเงินกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
...
“ขอชื่นชมกองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนา และต้องขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่าน ที่มุ่งเน้นการบริหารงานเพื่อสมาชิกและชุมชนอย่างแท้จริง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่ท่านนายกฯ ทักษิณ ได้วางแนวทางไว้ ว่าจะนำพาชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจุดเด่นของกองทุนฯ นี้ คือการบริหารจัดการเงินทุนอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และมีสวัสดิการที่ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกได้ในยามยาก หวังว่าแนวทางการดำเนินงานของกองทุนฯ นี้ จะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นโมเดลผลสำเร็จที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ดร.พวงเพ็ชร กล่าว
ดร.พวงเพ็ชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยุคการบริหารงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เราได้สานต่อแนวทางการดำเนินงานของนายกฯ ทักษิณ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ผ่านมาพบว่าบางกองทุนฯ ประสบความสำเร็จ บางกองทุนฯ ล้มเหลว เราจะทำการตรวจสอบและฟื้นฟู ให้กองทุนต่างๆ กลับมาดำเนินงานได้ โดยปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน ของเดิมมีกรรมการกองทุนฯ ขับเคลื่อน แต่กองทุนฯ โฉมใหม่ เปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากองทุนมากขึ้น สามารถบริหารงานได้ตรงต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ตามเป้าหมาย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส”