สรุปยอด 7 วันอันตราย 14 เม.ย. 2567 อุบัติเหตุ 317 ครั้ง บาดเจ็บ 311 คน เสียชีวิต 38 ศพ ขณะยอดสะสม 4 วัน เสียชีวิตรวม 162 ศพ กทม.-ร้อยเอ็ด สูงสุด ส่วนตายเป็นศูนย์มี 21 จังหวัด 

วันที่ 15 เมษายน 2567 พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 14 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่ 4 ของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” 

สถิติอุบัติเหตุทางถนน วันที่ 14 เมษายน 2567 (วันที่ 4 ของ 7 วันอันตราย)

  • เกิดอุบัติเหตุ 317 ครั้ง
  • ผู้บาดเจ็บ 311 คน
  • ผู้เสียชีวิต 38 ศพ

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

  • ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.22
  • ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.87
  • ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 15.46 

ขณะยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 87.51 โดยเกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.76 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 35.65 และถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.33 ส่วนช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-19.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี โดยมีการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,763 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,529 คน 

  • จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (14 ครั้ง)
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 คน)
  • จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ (3 ศพ) 

...

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วัน (11-14 เมษายน 2567) 

  • เกิดอุบัติเหตุรวม 1,259 ครั้ง
  • ผู้บาดเจ็บรวม 1,279 คน
  • ผู้เสียชีวิต รวม 162 ศพ
  • จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด
  • จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (50 ครั้ง)
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (54 คน)
  • จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและร้อยเอ็ด (10 ศพ)

พลตำรวจโทกรไชย กล่าวต่อไปว่า วันนี้ประชาชนบางส่วนยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ ขณะที่บางส่วนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานครและจังหวัดที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจในแต่ละภาค ทำให้เส้นทางสายหลักเริ่มมีการจราจรหนาแน่น ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยพื้นที่ที่ยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ ให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะเส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานสงกรานต์และในช่วงเวลากลางคืน 

ส่วนเส้นทางสายหลักขาเข้ากรุงเทพฯ และเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค เน้นการจัดตั้งจุดตรวจและเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยง โดยเฉพาะทางตรงที่มีระยะทางไกลและจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย พร้อมเน้นย้ำให้จังหวัดดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่ที่จัดการเล่นสงกรานต์ โดยดูแลไม่ให้มีความวุ่นวาย การทะเลาะวิวาท การพกอาวุธเข้าไปในพื้นที่จัดงาน การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนดและจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หากมีกรณีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ ขอให้พื้นที่เร่งติดตาม ตรวจสอบ และสืบสวนหาผู้ที่จำหน่ายหรือสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 

ทางด้าน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี และเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา (11-14 เมษายน 2567) แม้ว่าจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา แต่ ศปถ. ก็ยังขอกำชับให้จังหวัดดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง 

โดยใช้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนน วิเคราะห์หาสาเหตุเชิงลึกของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อปรับการทำงานในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยง รวมถึงป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง โดยใช้กลไกของชุมชน ทั้งผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และครอบครัว ในการป้องปรามไม่ให้คนในครอบครัวหรือชุมชุนที่มีสภาพร่างกายไม่พร้อมขับขี่ยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือร่างกายอ่อนเพลีย รวมไปถึงการคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกกันน็อก

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 15-17 เมษายน 2567 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน จะมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ทำให้ถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ1784 (Line ID @1784DDPM) เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.