"ตุลาการ ศาลรธน." ชี้ การพิทักษ์ รธน.เป็นบทบาทของทุกฝ่าย หากไม่มีความขัดแย้ง ศาลก็จะไม่ยุ่ง "ด้านสว." เผย แก้รธน.ทั้งฉบับ ยังเป็นปัญหายืดเยื้ออีกยาว เหตุไม่ว่าจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 67 เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ศาลรัฐธรรมนูญจัดอภิปรายหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" โดยมีนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และนายภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โดยนายปัญญา กล่าวว่า การทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญไทยเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาประเทศเยอรมนี ที่ผ่านมาได้มีบทบาทสำคัญผ่านคำวินิจฉัยสำคัญๆ อาทิ การคุ้มครองหลักความเสมอภาคในสิทธิสตรี คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้พิการ ซึ่งบทบาทเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายอุดม กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นบทบาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร ไม่ใช่แค่กรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ว่าที่ผ่านมา เกิดปัญหาทางการเมืองหลายๆ เรื่อง โดยเป็นปัญหาที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือ ระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน ไม่สามารถหาทางออกด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ จึงต้องมาหาศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยหาทางออก หากว่าฝ่ายที่กำหนดนโยบายไม่ว่า ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถตกลงกันได้มีความเห็นตรงกัน ก็ไม่ต้องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก
ด้านนายคำนูณ กล่าวว่า บทบาทการพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น ความจริงตัวรัฐธรรมนูญมีกลไกพิทักษ์ตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่กำหนดให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิม มีผลบังคับใช้อยู่ แต่ประเทศไทย ก็ยังสามารถทำได้ 2 ครั้ง ในปี 2489 และ 2540 ซึ่งขณะนี้ตนยังมองไม่ออกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับจะสำเร็จได้ในปีไหน และยังไม่มั่นใจว่า รัฐสภาจะสามารถให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเพียงว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ดังนั้นประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะยังเป็นปัญหาในสังคมอีกระยะหนึ่ง และการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
...
ด้านนายภูมิ กล่าวว่า หากมองปัญหาการเมืองและสภาพสังคมในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความท้าทายในการทำหน้าที่มากขึ้น เนื่องจากสังคมมีความขัดแย้งในหลายมิติ ซึ่งไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตีความปัญหาอย่างไร ก็จะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยออกมาชื่นชม และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยออกมาโจมตี