สถานการณ์ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังผันผวนไม่หยุด สาเหตุมาจากการที่ รัฐบาลรัสเซีย ประกาศให้บริษัทน้ำมันในประเทศลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาสที่สอง ลงมาเพื่อให้เป็นไปตามโควตาของ OPEC+ ดังนั้นน้ำมันจากรัสเซียที่จะส่งไปยังประเทศต่างๆ จึงมีจำนวนที่ลดลงไปด้วย สวนทางกับความต้องการที่ต้องการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นเนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด บวกกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง อิหร่านกับอิสราเอล ที่เตรียมทำสงครามกันอย่างเปิดเผยหลังจากมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกโจมตีจนเสียชีวิต อิหร่านประกาศแล้วว่า จะเอาคืนอิสราเอลในทุกประเทศที่มีสถานทูตอิสราเอลก่อน

ราคาน้ำมันในตลาดเวสต์เท็กซัสฯ เบรนต์และดูไบ อยู่ระหว่าง 82.02-86.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในสัปดาห์ที่ผ่านมาบวกขึ้นเล็กน้อย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ยังทรงตัวที่ 104.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเช่นเดียวกับดีเซลสำเร็จรูปที่ 103.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อส่องดูราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเรายิ่งต้องเฝ้าระวัง ดีเซลทะลุไปกว่า 30.44 บาทต่อลิตร เบนซินอยู่ที่ 47.84 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 39.95 บาทต่อลิตร นอกจากดีเซลที่ต้องขึ้นราคาเกินกว่าเพดานที่รัฐบาลกำหนดไว้แล้ว กองทุนน้ำมันยังจะต้องแบกรับภาระอีกบานตะไทหนี้ท่วมแสนล้าน

น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับการใช้ มาตรการช่วยเหลือเยียวยา ของรัฐบาล ที่จะต้องอยู่บนมาตรฐานความเป็นจริง ไม่ใช่อุ้มกันจนไม่ลืมหูลืมตา ผลสุดท้ายกลายเป็นภาระหนี้สินของประเทศ ดินพอกหางหมู จนแกะไม่ออกเป็นหนี้ของคนไทยที่จะต้องรับภาระร่วมกันทั้งที่ใช้น้ำมันและไม่ใช้น้ำมัน ส่งผลให้ ราคาทองคำ พุ่งทะลุเพดานร้อนขึ้นไปกว่า 1,200 บาทในสัปดาห์ที่แล้ว คาดราคาทองจะสูงถึงบาทละ 45,000 บาท แบบงงๆ ดังนั้นเวลาตกก็จะตกแบบงงๆ

...

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่จะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี งบประมาณนี้จากที่ตั้งกันไว้ 3.6 ล้านล้าน ในการประชุม ครม.เมื่อเดือน ม.ค. 2567 มีมติเห็นชอบกันไปแล้ว รายจ่ายประจำสูงถึงกว่า 2.7 ล้านล้านบาท รายจ่ายการลงทุนเหลืออยู่ 7.4 แสนล้าน จ่ายชดใช้เงินคงคลังกว่า 1.1 แสนล้าน ชำระเงินกู้กว่า 1.4 แสนล้าน คาดรายได้เข้าคลังที่ 2.8 ล้านล้าน ดังนั้นก็ยังเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลกว่า 7.1 แสนล้าน แต่เนื่องจากเป็นการจัดงบประมาณแบบต่อเนื่อง 2567-2568 ทำให้ต้องตั้งวงเงินงบประมาณปี 2568 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 แสนล้าน คาดกันว่างบประมาณปี 2568 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯอีกครั้งในเดือน เม.ย.กว่าจะเรียบร้อยก็เป็นเดือน ก.ย.พอดี

เรามีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี แบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง และเม็ดเงินงบประมาณส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการต่างๆ กับเป็นรายจ่ายประจำ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างต่อเนื่องไปด้วย มีรายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ของธนาคารโลก รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และความยากจนของประเทศไทย วิเคราะห์ว่า ที่ไทยปรับลดจีดีพีลงมาที่ร้อยละ 2.8 จากเดิมร้อยละ 3.2 เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังล้าหลังจากประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่อ่อนแอ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวยังมีความเสี่ยงสูงต่ออุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต

แม้กระตุ้นการเติบโตได้ราว 1% ในระยะสั้น แต่จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในระยะยาว.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม