"กองทัพเรือ" นำ "บิ๊กทหารเรือ" แถลงผลสอบ ร.ล.สุโขทัยล่ม ชี้ "ผู้การเรือ" ตัดสินใจผิดพลาด ขาดความรอบคอบ แต่ไม่ได้เกิดจากความจงใจทำผิด ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนเจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบ ลาออกจากราชการ
วันที่ 9 เม.ย. 67 ที่หอประชุมกองทัพเรือ ได้จัดการแถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยประสบอุบัติเหตุ เมื่อ 18 ธ.ค. 2565 ทำให้กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย สูญหาย 5 นาย โดยมีผู้ร่วมแถลง พลเรือเอกอะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย พลเรือตรีอภิรมย์ เงินบำรุง คณะทำงานผู้เชี่ยววชาญด้านเทคนิคและคณะกรรมการสอบสวนฯ พลเรือเอกชัยณรงค์ บุณยรัตกลิน คณะกรรมการสอบ ข้อเท็จจริงความรับผิดชอบทางละเมิด พลเรือโทสุรศักดิ์ สิงขรวัฒน์ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทัพเรือภาคที่ 1 และ นาวาโทพิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย
โดย พลเรือเอกอะดุง ระบุว่า ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 24 รายและผู้สูญหาย 5 ราย ทั้งนี้กองทัพเรือได้ทุ่มเทยุทโธปกรณ์และกำลังพลทั้งหมดในการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ตั้งแต่ช่วงแรกของเหตุการณ์ และไม่ละเลย ในการค้นหาผู้สูญหายเมื่อมีโอกาส ตลอดจนดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและสูญหายได้รับการชดเชยทางการเงิน ได้รับยศที่สูงขึ้น รับบุตรและญาติเข้ารับราชการ นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 คณะ
...
1.คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง และสรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
2.คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทัพเรือภาคที่ 1
และ 3.คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด
โดยนำผลการสอบสวนเบื้องต้นมาใช้ อย่างละเอียดตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมเมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการอันเนื่องมาจากการกระทำอันละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2542
พลเรือเอกอะดุง ย้ำว่า คณะกรรมการสอบสวนแต่ละคณะมีความเป็นอิสระต่อกันในการพิจารณาและใช้วิจารณญาณ ทั้งนี้ เพื่อให้การสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างรอบคอบโปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนด เพื่อตรวจสอบให้ได้ครบในทุกมิติ กองทัพเรือมีความต้องการ ได้วัตถุพยานจริง และตั้งใจที่จะกู้เรือขึ้นมาทั้งลำ แต่เนื่องจากการกู้เรือในความลึก 50 เมตร และกองทัพเรือมีความต้องการแนะนำขึ้นมาทั้งลำโดยไม่มีความเสียหายใดๆ รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของทีมกู้เรือ ไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีกเพียงแม้แต่คนเดียว ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายเรื่องและไม่มีบริษัทใดเข้าเกณฑ์ผ่าน
และในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา มีหนังสือ เกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ที่ติดอยู่กับเรือ เมื่อเลือกบริษัทกู้เรือได้แล้วต้องการขั้นตอนการเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ระยะเวลา 6 เดือน เมื่อพิจารณาแล้วกองทัพเรือได้หารือกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา และทางสหรัฐอเมริกายินดีจะช่วยเหลือในการตรวจสอบทุกประเด็นค้นหาผู้เสียหายภายในเรือด้วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ดังนั้น กองทัพเรือปรับเป็นการกู้เรือแบบจำกัดร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเพื่อเก็บภาพต่างๆ ใต้น้ำทั้งภายในและภายนอกตัวเรือตามจุดที่ได้จากการสอบเพื่อร่วมการยืนยันสาเหตุการจม
ทั้งนี้ ที่แถลงข่าว ของกองทัพเรือ ได้สรุปความเสียหายที่เรือหลวงสุโขทัยจม ดังต่อไปนี้
'ความเสียหายของแผ่นกันคลื่น (Brake Water) ซึ่งติดตั้งอยู่หน้าป้อมปืน 76/62 ถูกคลื่นกระทำจนฉีกขาดเป็นผลทำให้แผ่นเหล็กดาดฟ้าตัวเรือบริเวณดังกล่าวฉีกขาดและทะลุจนน้ำทะเลสามารถเข้าไปยังห้อง Gunbay ปืน 76/62 ซึ่งอยู่ใต้ป้อมปืนได้
ㆍความเสียหายของป้อมปืน 76/62 จากการถูกระแทกเป็นช่องเปิด ทำให้น้ำทะเลสามารถเข้าไปยังห้อง Gunbay ปืน 76/62 จากช่องทางนี้ได้
ㆍประตูห้องกระชับเชือกหัวเรือเปิดอยู่ ทำให้น้ำสามารถเข้าได้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรือสูญเสียความสามารถในการทรงตัว
ㆍความเสียหายรูทะลุ 2 แห่ง ที่หัวเรือกราบซ้ายบริเวณกงที่ 35 สูงจากแนวน้ำประมาณ 5 ฟุต เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำเข้าสู่ห้อง Gunbay ปืน 76/62 ได้ แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของการอับปางกล่าวคือเมื่อระดับน้ำภายในห้องสูงกว่าระดับรูทะลุ น้ำจะไหลออกมากกว่าไหลเข้าสู่ภายในห้อง
ด้าน พล.ร.ต.อภิรมย์ เงินบำรุง เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ระบุว่า สาเหตุของเรือหลวงสุโขทัยจม พบความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายแห่ง ตำแหน่งแรกแผ่นการคลื่น หน้าป้อมปืน 76 มม. ยุบตัวเพราะเจอคลื่นแรง จนดึงแผ่นเหล็กบนดาดฟ้าเปิด ทำให้เกิดเป็นช่องรูใหญ่ พื้นที่ 1 ตารางนิ้ว ตำแหน่งที่ 2 ความเสียหายของป้อมปืน 76 มม. เนื่องจากโดนวัตถุของแข็งกระแทก ซึ่งไม่พบหลักฐาน เพราะวัตถุที่ว่าไม่ติดค้างที่ป้อมปืนจึงบอกไม่ได้ว่าคืออะไร แต่เชื่อว่า โดนวัตถุขนาดใหญ่กระแทกแน่นอน เป็นช่องที่ทำให้น้ำเข้าเรือได้
ตำแหน่งที่ 3 รูทะลุบริเวณที่ 35 กราบซ้าย จำนวน 2 แห่ง สูงจากน้ำ 5 ฟุต โดนวัตถุภายนอกกระแทกเข้าไป รอยดังกล่าวไม่ได้เกิดที่ส่วนรอยเชื่อม จึงไม่ได้เกิดจากการซ่อมทำ ซึ่งรอยกระแทกดังกล่าว ไม่พบวัตถุที่ตกค้างว่า กระแทกจากอะไร ทำเป็นรอยกว้างยาว 1 ฟุต กว้าง 3-4 นิ้ว มีพื้นที้ 80 ตารางนิ้ว ตำแหน่งที่ 4 ประตูห้องกระชับเชือกที่อยู่ในลักษณะเปิด มีโอกาสน้ำเข้าได้เมื่อประตูเปิด ตำแหน่งที่ 5 ประตูท้ายห้อง gun bay ด้านป้อมปืน 76 มม.ที่ปิดไม่สนิท ทั้งหมดนี้สรุปความเสียหายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เรือเสียการทรงตัวและอับปาง
ส่วนลำดับเวลาที่เรือวิ่งจาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไป หาดทรายรี จ.ชุมพร เครื่องขัดข้องนั้นซึ่งกรณีที่เรือเจอคลื่นสูงก็จะพบกรณีนี้อยู่บ้าง เนื่องจากน้ำมันที่อยู่ในถังสกปรก ไปชำระเศษฝุ่น อุดตันหัวฉีด ส่งผลให้หัวฉีดบางส่วนใช้การไม่ได้ ทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถรับภาระได้ อีกทั้งเรือหลวงสุโขทัยก็ใช้งานมากกว่า 40 ปี แล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงท้ายที่จะเข้าสู่การปลดประจำการ
ขณะที่ พล.ร.ท.สุรศักดิ์ สิงขรวัฒน์ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กองทัพเรือภาคที่ 1 ระบุว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่า เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ไม่ได้เกิดจากความจงใจของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย รวมถึงกำลังพลบนเรือ แต่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลัน ทำให้เรือเกิดสภาวะผิดปกติและน้ำเข้าเรือ จากรูทะลุเป็นเหตุทำให้เรือเอียงและอับปาง การตัดสินใจนำเรือปรับฐานสัตหีบของผู้การเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีระยะทางไกล และใช้ระยะเวลาเดินทางมากกว่า เป็นดุลยพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหาย เชื่อว่าการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย มีส่วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ในการใช้ดุลพินิจโดยขาดความรอบคอบทำให้เกิดความเสียหายของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหารพ.ศ 2476 โดยเห็นสมควรลงทันณ์ "กัก" เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งทัพเรือภาคที่ 1 ได้ประเมินให้กองทัพเรือได้ดำเนินการทางวินัย กับผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย แล้วส่งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องส่วนในความผิดทางอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพานที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ส่วน พล.ร.อ.ชัยณรงค์ บุญยรัตกลิน คณะกรรมการสอบ ข้อเท็จจริงความรับผิดชอบทางละเมิด กล่าวถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดว่า จากผลการสอบสวนได้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการจงใจ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยจากสภาพอากาศทั้งสิ้น และการตัดสินใจของผู้การเรือในการหันหัวเรือกับสัตหีบ สามารถดำเนินการได้ ถือเป็นดุลยพินิจของผู้การเรือหลวงสุโขทัย จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องรับผิดทางละเมิด ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ด้าน น.ท.พิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือหลวงสุโขทัย ตนขอยืนยันว่า ไม่มีผู้ใดตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ตนและกำลังพลทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ อย่างสุดความสามารถ เพื่อกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ตามขั้นตอนในเหตุวิกฤตที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าที่จะควบคุมได้
"ในสถานการณ์วิกฤตและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นในฐานะผู้บังคับการเรือจำเป็นต้องมีการตัดสินใจ ดังนั้น การนำเรือกลับสัตหีบ จึงมาจากการใช้ดุลยพินิจของตน ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เรือยังอยู่ในสภาวะปกติไม่เอียง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือสามารถควบคุมได้ จึงเชื่อว่าสามารถนำเรือกลับได้" อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย กล่าว
น.ท.พิชิตชัยกล่าวต่อว่า แต่หลังจากที่ตัดสินใจนำเรือกลับ สภาพอากาศแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเลวร้ายกว่าเดิม ซึ่งการตัดสินใจของตนอาจเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่รอบคอบ จึงส่งผลต่อการทรงตัวที่เกิดขึ้นดังนั้น ในฐานะผู้บังคับการเรือ ขอแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ ขอยอมรับโทษตามกองทัพเรือภาคที่ 1 และผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะเห็นควร นอกจากนี้แล้ว หลังจากเรื่องทุกอย่างเสร็จสิ้น ตนขอแสดงเจตจำนง ลาออกจากกองทัพเรือ รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นการดำรงไว้ซึ่งเกียรติและตำแหน่งผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย
ทั้งนี้ น.ท.พิชิตชัย ยืนยันว่า ตนเองมีอิสระในการตัดสินใจ จากสถานการณ์หน้างาน การหันหัวเรือกลับสัตหีบ ไม่ใช่การกดดันจากใครทั้งสิ้น เป็นการตัดสินใจของตนแต่เพียงผู้เดียว พร้อมทั้งยืนยันว่าผลการสอบสวนทั้งหมดไม่ได้มีการปกปิด และไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง
จากนั้น พล.ร.อ.อะดุง ได้กล่าวปิดท้ายการแถลงข่าว พร้อมทั้งชื่นชม อดีตผู้การเรือหลวงสุโขทัย เป็นลูกผู้ชาย ใครไม่เป็นทหารไม่รู้ เพราะตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร มาเป็นผู้การเรือต้องมีใจรัก ซึ่งการเป็นผู้การเรือ เกรด A ของกองทัพเรือ เมื่อนำทัพทหารไปสูญเสีย ได้แสดงสปิริต ถ้าเขาไม่ลาออกก็ยังสามารถอยู่ได้ แต่ขอขอบคุณที่รักษากองทัพเรือไว้