นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี ร่ายยาว โต้ สส.ฝ่ายค้าน ยัน รัฐบาล ลุย ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ความสำคัญ ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ทุกรูปแบบ พร้อมกำชับปราบการทุจริต
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
เวลา 18.20 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ชี้แจงว่า จากที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ได้อภิปรายแสดงห่วงใย เรื่องความโปร่งใสและเป็นธรรม ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งขอยืนยันว่า ได้ให้นโยบายข้าราชการในกระทรวง ห้ามมีการทุจริตทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ได้กําชับตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และระเบียบกระทรวงการคลัง อย่างเคร่งครัด ส่วนงบลงทุน 18 โครงการ มูลค่า 2,012 ล้านบาท ขอแก้ไขข้อมูลว่า ในปี 67 กรมอุตุฯ มีงบลงทุนเพียง 14 โครงการ มูลค่า 1,022 ล้านบาท
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ขอบคุณนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ให้ความสนใจการทํางานของกระทรวงดีอี แต่ยืนยันว่าการจัดอีเวนต์ มีความจําเป็น เพราะเป็นการสร้างการรับรู้ให้ประชาชน เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงทุกวัน ตนยังต้องรับฟังบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางครั้ง จําเป็นต้องจัดในรูปแบบสัมมนา แม้แต่นายณัฐพงษ์เอง ก็ยังเคยไปหลายเวที
นายประเสริฐ กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นมาบริหารราชการแผ่นดิน ได้ให้ความสําคัญ รวมถึงกําชับตลอดเวลา เรื่องการปราบทุจริต และอาชญากรรมไซเบอร์ ทุกรูปแบบ และยังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพบ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน จากที่นายณัฐพงษ์ อภิปรายเรื่องบล็อกเชน ยืนยันว่า กําลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อนํามาพัฒนาประเทศ ส่วนนโยบายการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก รัฐบาลได้ขับเคลื่อนแล้ว ถือเป็นเรื่องสําคัญ ที่กระทรวงตั้งธงไว้ภายในปี 67 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเวียนหนังสือ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 20 กระทรวง เพื่อสอบถามความเห็น ก่อนจะนําเข้าที่ประชุม ครม. นอกจากนี้ ได้หารือกับกรมบัญชีกลาง ในเรื่องแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง ในอนาคตแล้ว
...
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีดิจิทัลไอดี ตนเห็นด้วยต่อข้อเสนอแนะ แต่จะต้องมีการออกระเบียบ ในการรวมแอปฯ ต่างๆ ซึ่งกระทรวงได้ให้ความสําคัญกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ในภาคเอกชนและธนาคาร กําลังมีการพิจารณาของคณะกรรมการ ว่าจะใช้ดิจิทัลไอดีแบบใด โดยจะคํานึงถึงบริบทของประเทศ