มติท่วมท้น สภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 400 เสียง ต่อ 10 เสียง หนุนคนหลากหลายทางเพศแต่งงานกันได้ กมธ. ตบมือเกรียวกราว ถือเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อเวลา 14.03 น. วันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ภายหลังจากมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในวาระ 2 จนครบ 38 มาตรา
จากนั้นประธานในที่ประชุมได้เรียกสมาชิกลงมติ ในวาระ 3 โดยมีผู้ลงมติจำนวน 414 คน ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เห็นด้วย 399 เสียง + 1 เสียง
ไม่เห็นด้วย 10 เสียง
งดออกเสียง 2 เสียง
ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือไม่ โดยมีผู้ลงมติจำนวน 401 คน ปรากฏว่า
...
เห็นด้วย 393 เสียง
ไม่เห็นด้วย 3 เสียง
งดออกเสียง 1 เสียง
ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
ทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้คณะกรรมาธิการต่างปรบมือ และโบกธงสีรุ้งด้วยความดีใจ
สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้การสมรสหรือแต่งงานครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ไม่จำกัดแค่เพศชายและเพศหญิง พร้อมทั้งให้อายุการสมรสเป็น 18 ปี จากเดิม 17 ปี และการบัญญัติคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ในกฎหมายให้มีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา
ทั้งนี้ ประเทศไทย จะถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ขณะที่ นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ปธ.คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ร่างดังกล่าวใช้เวลาในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้กว่า 12 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนครึ่ง กระทั่งบัดนี้ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนว่าจะเร่งดำเนินการให้กฎหมายฉบับนี้ สำเร็จก่อนการปิดสมัยประชุมสภาฯ นี้ โดยจะเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา พิจารณาและลงมติประมาณวันที่ 2 เมษายนนี้ พร้อมเปิดเผยว่า ตนได้พูดคุยกับ สว.หลายคน เมื่อมองแล้วเป็นไปในทิศทางบวกที่จะโหวตผ่านให้ในชั้นวุฒิสภา และในส่วนของกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จะยื่นกลับเข้ามาสู่สภาอีกครั้ง หลังเปิดสมัยการประชุมสภาฯ
นายดนุพร กล่าวต่อว่า ประชาชน ชาย หญิง จะยังคงได้รับสิทธิตามเดิมทุกประการ ยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่ได้สร้างมาเพื่อใครคนหนึ่ง แต่เป็นคนๆทยทุกคน อีกทั้งต้องการคืนสิทธิ์ให้กลุ่ม LGBTQ ที่คนเหล่านี้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ตามสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นการคืนทั้งสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล สิทธิ์ในการลงชื่อเพื่อยินยอมในการรักษา สิทธิ์ในการเบิกจ่ายภาษีเมื่อมีคู่สมรส รวมถึงสิทธิ์ในการซื้อประกันชีวิตประกันสุขภาพที่มีทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ให้แก่กลุ่ม lgbtq+ และประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับประเทศไทยในสายตาทั่วโลก ที่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมของประชาชน