“ธรรมนัส” นำทีมประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน พบลักลอบนำเข้าหมู-เนื้อวัว 6 ตัน ฟ้อง 3 บริษัท 4 ข้อหา ขณะ ผบก.ปคบ.ชี้ 2 เหตุ เลี่ยงเสียภาษี-เลี่ยงกักโรคสัตว์ ปปง.จ่อยึดทรัพย์ ขยายผลอีก 9 บริษัท 400 คดี
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อม พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.อ.รวิรักษ์ สัตตบุสย์ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ร่วมแถลงประกาศนโยบายทำสงครามสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประเทศไทย
โดย ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นโยบายสำคัญคือ การประกาศทำสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกร และกระทบเศรษฐกิจโดยรวมของไทย สินค้าหลายประเภทที่เราปราบปรามจริงจังทำให้ราคาพืชผลเกษตรมีการยกฐานะในตัวขึ้น เช่น สินค้าประเภทยางพารา พิสูจน์ว่าเราเดินทางมาถูกในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ การปราบปรามสินค้าภาคปศุสัตว์ และภาคประมง ตามที่เป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งหลังดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องและบริษัทที่เกี่ยวข้องแล้ว และตั้งชุดเฉพาะกิจ "พญานาคราช"เพื่อขยายผล ตั้งแต่ที่จับกุมครั้งแรกจนถึงทุกวันนี้ โดยจากลงพื้นที่ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ทำให้พบว่าในการลักลอบซุกซ่อนชิ้นส่วนเนื้อหมูปะปนมากับสินค้าประเภทประมง จึงขยายผลจนนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 ตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารการนำเข้าสำแดงเป็นสัตว์น้ำ 20 คดี ล่าสุดวันที่ 20 มี.ค. 67 ชุดเฉพาะกิจพญานาคราชได้แจ้งความต่อตำรวจสอบสวนกลางอีก 1 ราย จำนวน 220 คดี ที่มีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ประกอบการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ พบว่า มีการยื่อขอนำเข้าหัวปลาแซลมอน และปลาจวด แต่สินค้าที่นำเข้ามาจริงกลับเป็นเนื้อหมูเถื่อน จำนวน 1,859,270 กิโลกรัม เนื้อวัว 4,135,306 กิโลกรัม จาก 220 ตู้ คิดน้ำหนักรวมแล้วประมาณ 5,994,576 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,407,187 ล้านบาท
...
นอกจากนั้น ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรฯ ไปยื่นดำเนินคดีกับ 3 บริษัท และตรวจสอบแล้วพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารเพิ่มเป็น 2 เท่า สร้างความเสียหายประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 มีการตรวจสอบสามารถดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ที่ตำรวจสอบสวนกลางกับบริษัท 3 แห่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด 1.บริษัทศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด 9 คดี 2.บริษัทสมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด 9 คดี และ 3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริบูรณ์ เทรดดิ้ง 2 คดี พบความผิดปกติ คือบริษัทศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด มีการใช้ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์บกที่หน่วยงานผู้รับรองประเทศต้นทางออกให้มาปลอมแปลงข้อมูลบางส่วนให้เป็นใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ และนำมาใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตนำเข้าต่อด่านตรวจประมงชลบุรี โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใบรับรอง เช่น ปลอมแปลงรายการสินค้าหมู หรือวัวเป็นปลาจวดแช่แข็ง มีการเปลี่ยนแปลงพิกัดจากหมูหรือวัวแช่แข็ง เป็นพิกัด ปลาแช่แข็ง ซึ่งก่อนแจ้งความดำเนินคดี เราได้ตรวจสอบยืนยันไปยังประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศต้นทางแล้ว ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากสถานทูตบราซิลประจำประเทศไทยว่า ใบรับรองที่บริษัทดังกล่าวยื่นประกอบขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำนั้นเป็นเอกสารปลอม ทั้งนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทที่เอ่ยนามใน 4 ข้อ 1.)ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตามมาตรา 264 2.)ฐานความผิดใช้เอกสารปลอมมาตรา 268 3.)ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 137 และ 4.)ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ผ่านนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตามมาตรา 14 (1) และ (2) รวมคดีทั้งหมดที่ไปแจ้งความ 220 คดี กรมประมงขอให้ผู้เกี่ยวข้อง นำข้อมูลพยานหลักฐานข้อเท็จจริงมาชี้แจงกับพนักงานสอบสวนเพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และขอบอกว่าตอนนี้กำลังมีการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบพฤติกรรมลักษณะดังกล่าวอีก ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กองบัญชาการสอบสวนกลาง กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าน่าจะมีมูลเหตุจูงใจอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากการนำเข้าเป็นซากสัตว์หรือหมู หรือเนื้อ จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้านำเข้าเป็นปลาก็จะไม่ต้องเสียภาษี 2.เพื่อหลีกเลี่ยงการกักกันโรค เพราะถ้าแจ้งว่าเป็นเนื้อสัตว์ก็จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของกรมปศุสัตว์ ดังนั้นเราสงสัยว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรมที่ใช้ในการนำเข้าหมูหรือเนื้อเถื่อนเข้ามาในประเทศไทยผ่านบริเวณท่าเรือ เบื้องต้นได้มีการออกหมายเรียกบริษัทไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งทางบริษัทแจ้งว่าขอขยายเวลาเข้ามาพบเนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่ต้องนำมาชี้แจง ยืนยันว่าเราจะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กรมประมง กรมปศุสัตว์ ในการสืบสวนขยายผลไปยังกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังต่อไป
ส่วน พล.ต.ต.เอกรัตน์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า นอกจากการดำเนินคดีอาญาที่มีการแถลงไปแล้วอีกส่วนหนึ่งคือ ความผิดมูลฐานข้อมูลทางการเงินและการกระทำความผิดมูลฐาน ปปง.จะไปดำเนินการทางแพ่งต่อ ทุกคดี เพราะฉะนั้นนอกจากติดคุกแล้วก็ยังหมดตัวด้วยเพราะมีพฤติกรรมเข้าข่ายมูลฐานการฟอกเงิน โดย พ.อ.วิรักษ์ สัตบุศย์ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช กล่าวเสริมว่า คดีเหล่านี้ยังไม่จบแค่นี้ เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการที่จะดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีก 9 บริษัท ซึ่งยังรอหลักฐานประกอบเล็กน้อย รวม 400 กว่าคดี ทั้งนี้แรกเริ่มเราสงสัยเพราะ รมว.เกษตรฯ เข้าไปตรวจสอบที่แหลมฉบัง ซึ่งหนึ่งในตู้คอนเทนเนอร์นั้นพบว่าข้างหน้าเป็นสำแดงผิดประเภท พอตรวจไปท้ายคอนเทนเนอร์กลายเป็นหมู ทำให้เราฉุกคิด และรมว.กษตรฯ ได้สั่งให้กรมประมงจัดตั้งวอร์รูมขึ้นมาตรวจสอบ จึงนำเอกสารใบรับรองสุขภาพสัตว์มาไล่เรียงตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นนี่ถือเป็นการค้นพบความผิดปกติเสินทางใหม่
เอกสารที่เปิดวันนี้เป็นเอกสารที่ต้องใช้ความชำนาญเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่เฉพาะแค่กรมประมงเท่านั้น แต่ต้องเอาเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ที่มีความเชี่ยวชาญมานั่งชนกัน และหาสาเหตุร่วมกัน ดังนั้นหากไม่ใช่ผู้ชำนาญการ ตอบได้เลยว่ามันไม่ใช่เอกสารที่จะตรวจพบความผิดปกติได้ง่าย
เมื่อถามว่า เอกสารเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นชุดเดียวกันกับคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เป็นชุดเดียวกัน แต่ในส่วนของกรมประมงและชุดพญานาคราชเน้นป้องกันการนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายจะนำมาขยายผลต่อ ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นข้อมูลเดียวกัน แต่จะมีเพิ่มอีกราว 5 บริษัทที่มีพฤติกรรมนี้ ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ เพราะดีเอสไอ ได้ดำเนินคดีแก่ผู้นำเข้า 161 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่หลังจากเราขยายผล เราตรวจพบหลักฐานอันเป็นที่มาที่ไปว่าเราดำเนินคดีเพิ่มอีก 220 คดี และวันนี้จะเพิ่มอีกเป็น 400 คดี สร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตรไทยไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้าน บาทหรืออาจจะถึง 10,000 ล้านบาท ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่เราจะขยายผลต่อไป ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เมื่อเป็นประเด็นใหม่นายกฯอยากให้ บก.ปคบ. เข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ส่วนหากเกี่ยวข้องกับคดีเก่าก็จะประสานไปยังดีเอสไอต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ไว้ใจการทำงานของดีเอสไอ แต่เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรเกษตรกร
เมื่อถามย้ำว่า ดีเอสไอ ระบุจะปิดคดีนำเข้าหมูเถื่อนในเดือน เม.ย.นี้ ถือว่าทำงานรวดเร็วทันใจหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ส่วนตัวประสานงานกับดีเอสไอมาตลอด หลายคดีถือว่าทำงานรวดเร็ว แต่คดีที่กำลังจะเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมที่สร้างความเสียหายให้กับภาคการเกษตรถึงหมื่นล้านบาทนั้นจำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดอย่างละเอียด ซึ่งนายกฯ มีความเห็นว่าต้องมอบหมายให้ตำรวจสอบสวนกลางเป็นผู้ดำเนินคดี นอกจากนี้ตนได้ให้มอบหมายให้อธิบดีทั้ง 2 กรมว่า หากมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรไม่ว่าระดับไหนมีส่วนเกี่ยวข้องก็ให้ดำเนินคดีไม่มีเว้น ตอนนี้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนสอบสวนเรื่องนี้อยู่ เมื่อถามอีกว่า คดีนี้เจอตอใหญ่แล้วหรือไม่ และจะโค่นได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า แม้หนทางข้างหน้าจะเจออุปสรรคอะไรก็ตาม แต่นายกฯ ได้กำชับตนแล้วว่าให้เดินหน้าเต็มที่ ดังนั้นตนทำงานเต็มที่และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่า ปปง. หรือสอบสวนกลางที่ทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามไม่อยากใช้คำว่าโค่น แต่เราจะทำลายระบบวงจรอุบาทว์นี้ให้ได้ ทั้งนี้ขอย้ำว่าตอนนี้มีการตรวจสอบขึ้นทะเบียนตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นไว้หมดแล้ว ดังนั้นตู้เย็น หรือคอนเทนเนอร์ของบริษัทใดก็ตามในการสมรู้ร่วมคิดก็จะจัดการดำเนินคดี ดังนั้นสิ่งที่ท่านสร้างมาทั้งชีวิตอาจจะติดลบ หรือเป็นศูนย์.