การบ้านการเมืองหนีไม่พ้นการขับเคลื่อนของขั้วอำนาจ

ก้าวไกล และ เพื่อไทย ที่เป็นตัวแทนของการเมืองใหม่กับการเมืองเก่า ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ อายุ เพศ หรือวัย แต่อยู่ที่ ความคิด ระหว่างความคิดแบบเก่ากับความคิดแนวใหม่ วิกฤติการเมืองที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจทหารกับอำนาจทางการเมือง มีการพัฒนาการในวิธีการและรูปแบบการต่อสู้ ผลัดกันรับผลัดกันรุก จะว่าไปแล้วการแบ่งแยกระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ หรือคอมมิวนิสต์ ไม่มีความแตกต่างกัน ในการปฏิบัติ เพราะในระบอบประชาธิปไตยก็มีเผด็จการเสียงข้างมากในสภาฯ ในระบบเผด็จการก็มีการเลือกตั้ง ดังนั้น รูปแบบการปกครอง จึงอยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ปกครองมากกว่า

เช่น ในรัสเซียการปกครองเป็นแบบประธานาธิบดี มีการเลือกตั้ง แต่มีการผูกขาดผู้นำ กัมพูชาก็เช่นกัน มีผู้นำคนเดียวถึง 20 ปี อยู่นานจนหาวิธีลงเอง แต่ก็ยังส่งต่ออำนาจให้ทายาททางการเมือง มีระบบการเลือกตั้งเหมือนกัน

จีน รัสเซีย เคยปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ ต่อมาจัดให้มีการเลือกตั้งก็ยังผูกขาดอยู่ดี สหรัฐฯ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 4 ปี ระบบเลือกตั้งถือว่าดีที่สุดในค่ายประชาธิปไตย ก็ยังมีตัวเลือกไม่มากนัก สรุปว่า การปกครองจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองมากกว่าระบอบการปกครอง

บ้านเราก็เช่นกัน ในอดีตเราต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์มีการปลุกระดมให้เกลียดชังชาติ สถาบัน ศาสนา จากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ ต้องการให้ประชาชนลุกขึ้นมาขัดขืนอำนาจรัฐ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง รัฐบาล กองทัพ ต้องใช้วิธีทางทหารและยุทธวิธีแย่งชิงมวลชน ปลุกระดมให้เห็นความชั่วร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ สมัยก่อนประมาณปี 2524-2526 ไม่มีสื่อดิจิทัลที่ทันสมัยเปิดปุ๊บติดปั๊บ ฝ่ายความมั่นคงอาศัยฉายหนังกลางแปลงปลุกระดมไม่ว่าจะต่อสู้กันด้วยวิธีไหน สุดท้ายก็จบลงด้วยสันติภาพระหว่างคนไทยด้วยกันหลังจากที่ไทยฆ่าไทยไปเยอะมากในยุคนั้น

...

ยุทธการป่าล้อมเมืองในอดีต ถ้าเป็นการเมืองในยุคนี้ ก็น่าจะเปลี่ยนเป็นยุทธการบ้านเล็กล้อมบ้านใหญ่ ยกระดับความคิดประชาชนให้เป็นตัวแทนท้องถิ่นเพื่อเข้ามายึดอำนาจในส่วนกลาง อีกฝ่ายก็เปลี่ยน อำนาจจากปลายกระบอกปืน มาเป็นอำนาจของตาชั่งในกระบวนการยุติธรรม ผลประโยชน์และสื่อดิจิทัล แต่ยังอยู่ภายใต้ความคิดเก่าๆที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

สลับเป็นตัวจริงลงมาเล่นเองกับตัวแทนจากภาคการเมือง

ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน การต่อสู้ทางความคิดระหว่างการเมืองเก่า อำนาจเก่ากับการเมืองใหม่ อำนาจใหม่ สำหรับประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพียงแต่ใช้วิธีใหม่ๆ สื่อใหม่ๆ ไอโอใหม่ๆ

วันนี้สื่อดิจิทัลกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือล้างสมองคนรุ่นใหม่

เพื่อกลับไปสู่อำนาจเดิมๆ ระบบเดิมๆ หรือเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็ไม่มีฝ่ายไหนถูกหรือฝ่ายไหนผิด แต่ฝ่ายไหนจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับการบิดเบือนความจริงในประวัติศาสตร์ เพื่อให้เกิดความเห็นต่างขึ้นในสังคมไทย

จับตาประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม