กกต.ยื่นคำร้อง ยุบ ก้าวไกล-ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค คดีล้มล้างการปกครอง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จับตา 20 มี.ค.หากมีคำร้องเข้าสู่การพิจารณา ศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย หรือไม่
วันที่ 18 มี.ค. 2567 มีรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายจาก กกต.ให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทน กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว โดยเป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเป็นมติเอกฉันท์ ว่าการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นและพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ซึ่งนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ดำเนินการเอาผิดกับพรรคก้าวไกล ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม กกต.ได้มีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และสำนักงานฯ ได้ดำเนินการยกร่างคำร้องก่อนที่ กกต.ทั้ง 6 คน จะลงนาม ก่อนยื่นคำร้องในวันนี้
...
จากนี้ต้องรอดูว่า การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปกติจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธนั้น ในวันพุธที่ 20 มี.ค.นี้ จะมีคำร้องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณา หรือไม่ และศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัย หรือไม่ หากจะมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป