“รัดเกล้า” ย้ำหลักการ Crisis Management วอนก้าวไกลให้เกียรติรัฐบาลแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 ติง ระวังทำงานซ้ำซ้อน ทำประชาชนสับสน และอาจสร้างภาระเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น แนะหันกลับมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีที่สุด 

วันที่ 16 มีนาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในยามเผชิญกับวิกฤติ หนึ่งในแนวทางบริหารวิกฤติ (Crisis Management) ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต้องยึดใน 4 หลักการ หรือจำง่ายๆ ว่า 4C ประกอบด้วยการมี Command Center (ศูนย์บัญชาการ) เพื่อทำหน้าที่ Coordinate (บริหารจัดการแบบบูรณาการ) Communicate (สื่อสาร) และ Control Supply & Resource (บริหารจัดการทรัพยากร)

ในสถานการณ์วิกฤติระดับประเทศ เช่น ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 รัฐบาลควรเป็น Single Command Center (ศูนย์บัญชาการเพียงหนึ่งเดียว) ในการแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญ เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวและเดินหน้าขึ้นเหนือลุยงานแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 ที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่

การที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าร่วมกับภาคประชาสังคม ขอให้ระมัดระวัง อย่าให้เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับรัฐบาล รวมถึงขออย่าได้สร้างความสับสนให้กับประชาชนและผู้ดำเนินการ เพราะเป็นห่วงว่าอาจจะเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงตุลาคม 2566 ที่ความขัดแย้งในประเทศอิสราเอลเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ แล้วนายพิธา เสนอตนเป็นคนกลางรับประสานคนไทยที่ต้องการติดต่อหาญาติ จนท้ายสุดสร้างความสับสนให้กับคนไทยที่ประสบวิกฤติ และก่ออุปสรรคให้กับผู้ที่ต้องรับผิดชอบงานโดยตรง

...

ปัจจุบัน รัฐบาลทำงานอย่างเข้มงวด โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมาตรการในการตรึงพื้นที่ด้วยการตั้งจุดเฝ้าระวังไฟป่าใน 17 จังหวัดภาคเหนือ 2,700 จุด (3,893 จุดทั่วประเทศ) ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เป็นเงินทั้งสิ้น 272,655,350 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ของกรมป่าไม้ เป็นเงิน 109,946,650 บาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเงิน 162,708,700 บาท

นางรัดเกล้า ระบุต่อไปว่า รัฐบาลรับทราบถึงความห่วงใย ความตั้งใจ และความร้อนใจของ นายพิธา และ สส.พรรคก้าวไกล ในพื้นที่เชียงใหม่ทั้ง 7 คน รวมถึงผู้ที่มีบทบาททำงานอยู่ในคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมทุกท่าน แต่ขอให้แยกแยะบทบาทหน้าที่เพื่อให้มีการทำงานบริหารประเทศและบริหารปัญหาครั้งนี้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ นายพิธาและคณะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไป เช่น ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ การสร้างสถานีน้ำ หรือข้อสงสัยในกำหนดการประกาศพื้นที่ภัยพิบัตินั้น รัฐบาลรับทราบ รับฟัง แต่วอนขอให้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างมีหลักการและเป็นระบบ ขอให้นำข้อเสนอแนะมาหารือกับรัฐบาลโดยตรง ให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อสร้างทางออกให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

“เป็นสิ่งน่าชื่นชมที่ฝ่ายค้านเป็นห่วงเป็นใยในปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 ที่เกิดขึ้น แต่การเดินทางไปลงพื้นที่ในเวลาเดียวกันกับรัฐบาลนั้น นอกเหนือจากอาจสร้างความสับสนให้ประชาชนแล้ว ยังอาจเป็นการสร้างภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้พื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย เกรงว่าเจตนารมณ์ที่ดีของพรรคก้าวไกลจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวัตถุประสงค์ทางการเมือง มือไม่พายเอาเท้าราน้ำได้ เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลเป็นผู้ที่มีอำนาจและบทบาทโดยตรงในการสั่งการ และแก้ปัญหาตรงนี้อยู่ ขอให้พรรคก้าวไกล หันกลับมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านของตัวเองตามที่เหมาะสมให้ดีที่สุด การบริหารของประเทศของรัฐบาลหากขาดตก บกพร่องในจุดใด ขอให้รวบรวมข้อมูล นำเสนอทางออกที่ดีกว่า หากทำได้เช่นนี้ ฝ่ายค้านจะสามารถช่วยเหลือประเทศชาติให้ก้าวหน้า ก้าวไกล ได้สมชื่อจริงๆ”