พรรค “พปชร.” เปิดเวทีเสวนา สร้างโอกาสให้สินค้าไทยต้านสินค้าจีนทะลัก ราคาถูกแต่คุณภาพอาจสู้ไม่ได้ ดึงคนรุ่นใหม่-ผู้ประกอบการ วางกลยุทธ์รับมือเชิงรุก เพื่อประชาชน-เศรษฐกิจไทยในระยะยาว 

วันที่ 12 มี.ค. 2567 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้จัดกิจกรรมเวทีเสวนาวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ในหัวข้อ “จับเข่าคุยชี้ช่องรับมือสินค้าจีนทะลัก...เสริมสร้างความได้เปรียบสินค้าไทย” โดยมี นายไผ่ ลิกค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กำแพงเพชร เขต 1 นายกานต์ กิตติอำพน อดีตผู้สมัคร สส.กทม. เขต 5 และ นายรุ่งโรจน์ อาชาเทวัญ รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าการลงทุนในประเทศและชายแดน ดำเนินรายการโดย ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง ณ ห้องประชุมใหญ่ พรรค พปชร.  

โดยเวทีเสวนาได้ร่วมกันหาแนวทาง และข้อเสนอแนะในการรับมือ และควบคุมสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีความหลากหลายและราคาถูก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของไทย เนื่องจากจำนวน SMEs ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก พปชร. ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง รุกลามต่อระบบเศรษฐกิจไทย จึงจัดเวทีเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็น นำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยต่อภาครัฐต่อไป 

...

ในขณะที่ นายไผ่ ลิกค์ กรรมการบริหาร พรรค พปชร. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กำแพงเพชร เขต 1 กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น สส. และมีการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน พ่อค้าในต่างจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าได้รับข้อร้องเรียนจากพ่อค้า แม่ค้า และ SMEs ถึงผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาแข่งขัน ทำตลาดไทยมากขึ้น ในหลากหลายประเภทสินค้า ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าสินค้าไทย เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ ในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า) กลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ผลไม้ ยางพารา เป็นต้น ซึ่งสินค้าบางประเภทของจีนพบว่าไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน จึงนับเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคในการใช้สินค้าที่จะไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน  

“สินค้าจีนที่เข้ามาแข่งขัน ทำตลาดในไทย มีราคาถูกกว่าสินค้าไทย เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ นี่คือสาเหตุที่ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ทำไมต้นทุนการผลิตถึงสู้กับจีนไม่ได้ รวมถึงเราต้องเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น ที่จะช่วยดูแลผู้ประกอบการไทยในการสกัดสินค้าไร้คุณภาพมาแข่งขัน หากยังให้มีการนำเข้าต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยถึงขั้นล้มละลายได้ เกิดปัญหาการว่างงาน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งการเสียดุลการค้า เผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออก การเติบโตเศรษฐกิจล่าช้า รายได้คนไทยลดลง ที่สำคัญสินค้าไทยอาจถูกลอกเลียนแบบ เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น” นายไผ่ ลิกค์ กล่าว 

ด้าน นายรุ่งโรจน์ อาชาเทวัญ รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าการลงทุนในประเทศและชายแดน กล่าวว่า จากการเก็บตัวเลขของสมาพันธ์ฯ พบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยนำเข้าสินค้าจากจีน มีมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% โดยสินค้าจีนครองส่วนแบ่งการตลาดในประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงถึง 60%  ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าสินค้าไทยถึง 20% โดยเฉพาะการซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งคนไทยกว่า 70% มีประสบการณ์ใช้สินค้าจากจีน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสัดส่วนถึง 30% ต้องปรับตัว โดยการลดราคาขายสินค้าเพื่อแข่งขันกับจีน 

ขณะที่ปี 2567 การนำเข้าสินค้าจากจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะราคาสินค้าถูก และยังมีความเชื่อว่าสินค้าจากจีน มีคุณภาพใกล้เคียงกับสินค้าไทย แม้จะไม่มีมาตรฐานรับรองก็ตาม แต่ด้วยกลไกการตลาดปัจจุบัน มีช่องทางการจัดจำหน่ายหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งผ่านร้านค้าทั่วไป ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ตลาดออนไลน์แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ซึ่งยากต่อการควบคุม เพราะผู้ผลิตจีนเห็นช่องทางกระแสความนิยมของผู้บริโภคไทย รวมทั้งพ่อค้าคนไทยเอง มีการนำสินค้าจีนมารีวิวในเชิงบวก ทำให้สินค้าจีนเกิดความแพร่หลาย จึงมีการผลิตสินค้า และนำสินค้าใหม่เข้าสู่ท้องตลาดไทยอีกเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ควรยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ต่ำลง ผ่านการสนับสนุนพัฒนาธุรกิจ SMEs ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย สร้างแรงจูงใจทางภาษี สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาด้านทักษะแรงงานฝีมือให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีการนำเทคโนโลยีในการเข้ามาพัฒนาสินค้าและบริการ วางระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพิ่มช่องทางและโอกาสทางการค้า รวมถึงการรณรงค์และสนับสนุนการใช้สินค้าไทย กำหนดมาตรฐานนำเข้าสินค้า เพื่อควบคุมปริมาณสินค้าจีนบางประเภท โดยเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มในบางประเภท เพื่อให้สินค้าไทยมีโอกาสแข่งขันในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น  

 ด้าน นายกานต์ กิตติอำพน อดีตผู้สมัคร สส.กทม. เขต 5 กล่าวว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ และเป็นผู้สมัคร พปชร. ได้มีโอกาสทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีการพบปะกับผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดไทย มองเห็นว่าโอกาสของสินค้าไทย ที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับตัว และพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง โดยการสร้างจุดเด่น สามารถสร้างเรื่องราวของสินค้า หรือการสร้างแบรนด์ โดยอาศัยพื้นฐานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ผ่านการดีไซน์สินค้าให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยคำนึงถึงมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพ และการบริการที่สม่ำเสมอ คงที่ มุ่งเน้นสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะเจาะจง พัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรม 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องวางแผนทางการตลาด ขยายโอกาสในตลาดดั้งเดิมและเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ช้อปปี้ และลาซาด้า เข้าร่วมงานแสดงสินค้า (โรดโชว์) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการจดจำให้กับแบรนด์สินค้าในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ดังนั้นในส่วนการผลิต จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หาแหล่งวัตถุดิบในราคาที่ประหยัดแต่ยังคงคุณภาพ เจรจาต่อรองกับซัพพลายเออร์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในกระบวนการผลิต เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง พร้อมทั้งเร่งศึกษาหาข้อมูลของคู่แข่ง เรียนรู้ทักษะการขายและการตลาดใหม่ๆ โดยการติดตามการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนจากภาครัฐ การเข้าร่วมฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะในด้านต่างๆ สร้างความได้เปรียบและขีดความสามารถการพัฒนาธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสการทำตลาดของสินค้าไทยในพื้นที่ต่างๆ ของโลกต่อไป 

นายชาญกฤช กล่าวสรุปในการสัมมนาว่า จะนำข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากเวทีสัมมนา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะนำไปสู่กลไกการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยและป้องกันสินค้าจากจีน โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายให้มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทั้งกฎหมายดูแลการทุ่มตลาด ทั้งมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) มาตรการปกป้องทางการค้า (Safeguards) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ผ่านกลไกกระทรวงพาณิชย์และรัฐสภาต่อไป