"สส.กรวีร์" กรีดยับ “ลูกกวาดอาบยาพิษ” อภิปรายตีกรอบ ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับ เซีย สส.ก้าวไกล ชี้ กฎหมายไม่ได้สัดส่วน เอาใจเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชั่วครั้งชั่วคราว และเกิดหายนะ ให้กับประเทศ

วันที่ 6 มี.ค. 67 ที่รัฐสภา นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาพผู้แทนราษฎร จ.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ ... พ.ศ. .... ว่า เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองเห็นไม่ต่างกัน เราเชื่อไม่ต่างกัน ในฐานะของผู้แทนราษฎร ว่าเราอยากจะเพิ่มการคุ้มครองสิทธิ์ เราอยากเห็นสวัสดิการของแรงงานที่ดีมากขึ้น เราอยากเห็นคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานให้ดีมากกว่านี้ เราอยากเห็นความเป็นธรรมให้มันเกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการ กับคนใช้แรงงาน และเช่นเดียวกัน คงไม่มีใครปฏิเสธ ถ้าจะบอกว่าเพื่อนสมาชิกทุกคนที่นั่งอยู่ในสภาตรงนี้ ไม่ว่าจะฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล ทุกคนอยากเห็นเหมือนกัน นั่นก็คือการออกกฎหมายที่เป็นธรรม ที่ได้สมดุล และที่สำคัญคือยอมรับได้จากทุกๆ ฝ่าย

“ผมและเพื่อนสมาชิกพรรคภูมิใจไทยต้องกล่าวตรงนี้เลยครับว่า ผมฟังเหตุผลในการเสนอรับหลักการต่างๆ ทั้ง 3 ฉบับ ผมยินดีครับ และเห็นด้วยกับการเพิ่มสวัสดิการของพี่น้องแรงงานแต่ต้องบอกให้ชัดๆ ตรงนี้ว่า มีบางร่างครับ คือร่างของเพื่อนสมาชิกท่านเซีย (จำปาทอง) มีหลักการหลายอย่างที่เราไม่อาจที่จะรับหลักการในวาระที่ 1 นี้ได้ เรากำลังพิจารณาพระราชบัญญัติ นั่นก็คือกฎหมายที่มีความสำคัญ และกฎหมายนี้จะมีสภาพใช้บังคับทุกคนในประเทศไทย เราต้องไม่ลืมหลักการสำคัญของการตรากฎหมาย เขาเรียกว่า หลักแห่งความได้สัดส่วน หรือภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Principle of Proportionality กล่าวคือกฎหมายมีความสมเหตุ สมผลไหม กฎหมายนั้นมันได้สัดส่วน มันได้สมดุล ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไหมกฎหมายนั้นมันไปเพิ่มสิทธิ์ให้กับบางคน และมันไปกระทบกับสิทธิ์ของอีกคนบางกลุ่มมากเกินไป หรือเปล่า กฎหมายที่ดีคือการออกกฎหมายให้มันได้ข้อสมดุลเพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น เขาสามารถที่จะใช้กฎหมายนั้นได้ด้วยความเป็นธรรม ผมต้องย้ำตรงนี้ เพราะเรากำลังพิจารณาออกกฎหมาย เราจึงไม่สามารถมองแบบคนสายตาสั้นได้ มองแบบคนสายตาสั้น คือมองแต่เพียงระยะสั้น เสนอกฎหมายขึ้นมาเพียงเพื่อสร้างความนิยมเพียงชั่วคราว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้นต่อประเทศของพวกเราในระยะยาวได้”

สส.อ่างทอง กล่าวต่อว่า เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เราอยู่ในระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เสรีนิยมหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ในการสนับสนุนในการกำกับ ในการดูแลเพื่อที่จะให้หน่วยงานต่างๆ นั้นมันขับเคลื่อนและเดินไปตามกลไกลของตลาด เราไม่ได้อยู่ในระบบสังคมนิยม ที่รัฐนั้นเป็นเจ้าของ และเป็นผู้รับผิดชอบ ผลกำไร หรือขาดทุน ของการผลิตทั้งหมดอยู่แต่เพียงรัฐเดียว สุดท้ายถ้าเราอยู่ในระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แบบทุนนิยมเสรี ผู้ประกอบการผู้ที่ลงทุนคือคนที่รับผิดชอบแบกรับผลกำไรของการลงทุน ด้วยตัวเขาเอง ด้วยเหตุนี้รัฐจึงไม่ควรไปก้าวก่าย ไม่ควรไปแทรกแซง ไม่ควรไปควบคุมจนเกินความจำเป็น และควรที่จะเป็นผู้สนับสนุนกลไกให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่ใช้อำนาจรัฐ ไม่ใช่ออกกฎหมายไปทำลายกลไกของตลาด ด้วยตัวเราเอง

นายกรวีร์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่า กฎหมายที่พิจารณากันอยู่ ตั้งแต่เช้ามา บางฉบับเป็นไปตามหลักการที่ได้กล่าวมาหรือไม่ ถ้ามันได้สมดุลจริง ถ้ามันได้สมดุลของกฎหมายในระดับที่รับได้ ทำไมวันนี้เราจึงเห็นเสียงที่คัดค้านอย่างมากออกมาจากอีกฝั่งหนึ่ง ของคนที่เขาได้รับผลกระทบ ประเด็นที่ถกเถียงกันมาก ฟังมาตั้งแต่เช้าฟังดูแล้วเป็นประโยชน์ และเป็นเจตนารมณ์ที่ดี ของเพื่อนสมาชิก ที่อยากจะไปคุ้มครองแรงงาน ที่อยากจะไปเพิ่มสวัสดิการแรงงานอยากจะเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวแรงงาน ซึ่งผมไม่ปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นการลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ให้เหลือไม่เกิน 40 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้เพิ่มอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามการเติบโตของ GDP ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว ต่อไปนี้ให้เป็นลูกจ้างรายเดือน ให้เป็นพนักงานประจำ หรือไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิ์ในการพักร้อน ลาป่วย ลาเจ็บ รวมไปถึงลาป่วยที่จะไปเฝ้าญาติพี่น้อง พ่อแม่ ที่ป่วยด้วยทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นจากเจตนาที่ดีครับ ฟังแล้วดูดีเป็นประโยชน์กับลูกจ้างทั้งประเทศ แต่ข้อกังวลของคือมันเป็น "ลูกกวาดที่อาบยาพิษ" ไว้ข้างในหรือเปล่า นั่นเป็นเพียงมุมเดียว ฝั่งเดียวของเหรียญหรือเปล่า เราต้องดูอีกด้านของเหรียญ จึงอยากจะเสนออีกด้านหนึ่งของเหรียญให้สภาชุดนี้ได้พิจารณา ก่อนที่เราจะลงมติกัน อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย SME ร้านอาหารโรงแรม สถานบันเทิง ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มาตรการเหล่านี้มันออกมา มันจะเป็นภาระ เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ถ้าเขาไปต่อไม่ไหวแล้วถ้าเขาต้องปิดกิจการ แล้วถ้ากิจการเขาเสียหายแล้วเขาไม่สามารถที่จะจ้างแรงงานได้เลย แม้แต่คนเดียว อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อะไรจะเกิดขึ้นกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องเจอกับสถานการณ์ต้นทุนของแรงงานที่มีแต่จะสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนทางเทคโนโลยีมีแต่จะถูกลง

สส.อ่างทอง กล่าวว่า เรากำลังพูดถึงเรื่องของการถูก disruption จากสถานการณ์โควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในที่สุดการรักษาสถานการณ์โควิด การควบคุมสถานการณ์โควิดของประเทศไทย ได้รับคำชื่นชมจากทั่วทั้งโลก แต่ถึงแม้ว่าจะได้รับการชื่นชมจากคนทั้งโลกนั้น เรามาถามคนภายในประเทศ ยังรู้สึกว่าประเทศไทยนั้นรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หรือว่าการ disruption นั้นยังดีไม่พอเลย นั่นขนาดเรามีเวลาในการเตรียมตัว นั่นขนาดเราได้รับคำชื่นชมจากทั่วทั้งโลก เรายังทำได้ไม่ดีพอเลย

นายกรวีร์ กล่าวว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าหากว่าผู้ประกอบการเหล่านั้น เขาคิดว่าการลงทุนกับเทคโนโลยี การลงทุนกับหุ่นยนต์ ที่จะมาแทนแรงงานนั้นมันเป็นภาระที่ต่ำกว่าไปจ้างแรงงานจากกฎหมายที่เรากำลังจะเขียนขึ้น มันจะไม่เป็นตัวเร่งให้อนาคต เขาทนไม่ไหว เขาต้องปิดกิจการ เขาต้องเลิกจ้าง เขาต้องย้ายฐานการผลิต สุดท้ายใครรับผิดชอบ ไม่ใช่พี่น้องแรงงานที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้ จะต้องตกงาน และอะไรจะเกิดขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถ้าหากว่า ต้นทุนทางแรงงานของพวกเราสูงขึ้น สูงขึ้นทุกปี การลงทุนใหม่จากต่างชาติ จะมาที่ไทย หรือ ทุกวันนี้เราแข่งขันกับต่างประเทศ ด้วยต้นทุนทางด้านแรงงานด้วยต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น สูงมากกว่าต่างประเทศ มากมายอยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุด อะไรจะเกิดขึ้นกับค่าครองชีพ ของสินค้าต่างๆ ที่มันเป็นผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่มีผู้ประกอบการเจ้าไหนโง่มากพอ ไม่มีผู้ประกอบการเจ้าไหน ใจดีมากพอที่จะแบกรับต้นทุนเหล่านั้นเอาไว้เอง เขาจะผลักภาระนั้นให้กับลูกค้า สุดท้ายก็พี่น้องประชาชนแรงงานไม่ใช่หรือ ที่ต้องไปซื้อข้าวของที่มันแพงขึ้น

"ด้วยผลกระทบเหล่านี้ผมและเพื่อนสมาชิกจากพรรคภูมิใจไทย จึงอดสงสัยและต้องตั้งคำถามดังๆ ตรงนี้ว่านี่คือ การเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทย ที่จะไม่เหมือนเดิม ที่พวกเราอยากเห็นจริงๆ ที่บอกว่าทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต ผมกลัวว่ามันจะเป็นการพักผ่อน เหมือนตอนโควิด เพราะไม่มีงานจะทำ สำคัญสุดท้าย มันจะไม่มีชีวิตให้ใช้ ผมย้ำอีกครั้ง อยากเห็นกฎหมายแรงงานที่คุ้มครองสิทธิดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง ให้ดีมากขึ้น อยากเห็นกฎหมายที่ออกแล้วพูดแล้วทำได้จริง กฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกกลุ่มได้สมดุลกับทุกฝ่ายมากกว่าจะออกกฎหมายที่เอาใจเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพียงชั่วครั้งชั่วคราว และเกิดความเสียหาย หายนะ ระยะยาว ให้กับประเทศ" นายกรวีร์ กล่าว
.

...