คนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลปัจจุบัน “ไม่ค่อยมีผลงาน” ส่วนใหญ่มักจะเป็นคำสัญญาของนายกรัฐมนตรี จะทำให้ประเทศไทยเป็นเลิศในด้านต่างๆ ภายใน 5 ปี หรือ 20 ปี ผลการสำรวจความเห็นประชาชน เพิ่งจะยกย่องผลงานด้านการแก้ปัญหาหนี้ไปสดๆร้อนๆ แต่อีกเพียงไม่กี่วันต่อมา ปัญหาหนี้ก็มาเป็นเรื่องใหม่
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่าหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2566 ทะลุขึ้นไปถึง 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสก่อน ไปอยู่ที่ 90.9% ของจีดีพี แต่มีแนวโน้มว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เพราะประชาชนลดการก่อหนี้
หนี้ครัวเรือนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนานย้อนหลังกลับไปดูสถานการณ์เมื่อปี 2563 มีข้อมูลระบุว่าในไตรมาส 3 ของปีนั้น ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 80.1% ของจีดีพี สูงสุดในรอบ 4 ปี เป็นผลจากไตรมาส 2 ของปี 2559 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว และการระบาดของโควิด
สศช.ระบุว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะคนไทยบางส่วน โดยเฉพาะเจนวาย ชอบก่อหนี้ ถือคติ “ถ้าต้องการอะไรจะต้องได้” ไม่มีเงินต้องกู้ หรือใช้บัตรเครดิตรูด เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 มีข้อมูลของเครดิตบูโร เตือนว่ามีหนี้เสียสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุถึง 3 เท่า
แต่รายงานเกี่ยวกับภาวะสังคมไทยของ สศช. เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่าสถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัว ดีขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ในสาขานอกภาคการเกษตร มีผู้ทำงาน 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร แต่ภาคการเกษตรหดตัว แต่ไม่ถือว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ “วิกฤติ” ตามที่รัฐบาลอ้าง
เป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการเดินหน้านโยบายสำคัญของรัฐบาล นั่นก็คือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่พรรคเพื่อไทยสัญญาจะแจกเงินผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป 56 ล้านคน คนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5.6 แสนล้านบาท สัญญาจะเริ่มแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ขณะนี้ยังลูกผีลูกคนอยู่
...
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้รับยกย่องเป็นผู้นำที่ขยันขันแข็ง ทำงานไม่มีวันหยุด ชอบออกต่างจังหวัด เพื่อพบปะประชาชน และชอบเดินทางไปต่างประเทศ และชอบสัญญาจะทำให้ประเทศไทยดีเลิศของโลกภายในไม่กี่ปี แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่คำสัญญา มีเสียงเรียกร้องเมื่อไหร่จะสร้างผลงานเสียที.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม