กลายเป็นวิวาทะแบบใหม่ ในระบบรัฐสภาไทย เมื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล อ้างถามร่างพ.ร.บ. กว่า 30 ฉบับ ทำให้ สส.พรรคเพื่อไทยเอะอะโวยวาย ตอบโต้ว่านายกรัฐมนตรีไม่เคย “ดอง” ร่างกฎหมาย เพราะไม่ใช่หน่อไม้ พร้อมทั้งต่อว่า
ถามว่าฝ่ายนิติบัญญัติมารุกไล่ฝ่ายบริหารแบบนี้ไม่เคยมีรองประธานสภาคนไหนเคยทำ เมื่อนักข่าวนำเรื่องนี้เรียนถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีอาจรู้สึกงง บอกว่าไม่รู้เรื่องคำศัพท์อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ต้องให้ความเป็นธรรม จะดูแลให้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร
แต่เมื่อพูดถึงการที่ สส.พรรคเพื่อไทย มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นายกรัฐมนตรีตอบว่า “ต้องมีครั้งแรกเสมอ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ส่วนนายปดิพัทธ์ที่ชี้แจงว่าไม่ได้มากดดัน ให้นายกฯเซ็นรับรองร่างกฎหมาย แต่เห็นว่าควรมีการปรับปรุงเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างสภากับรัฐบาล
ตามหลักการปกครองประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา รองประธานสภาจะไปติดตามร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ ไม่ผิดกติกาใดๆ เพราะระบบรัฐสภาไม่ได้แยกอำนาจนิติบัญญัติ กับอำนาจบริหารออกจากกันเด็ดขาด ทั้งสองอำนาจมาจากแหล่งเดียวกัน คือจากพรรคที่คุมเสียงข้างมากในสภา
ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาทั่วโลก นายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าพรรค ที่คุมเสียงข้างมากในสภา เสียงข้างมากของ สส.เลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ และต้องทำงานร่วมกับ สส. การที่รองประธานสภาจะสอบถามรัฐบาลเรื่องร่างกฎหมาย หรือรัฐมนตรีจะถามประธานสภา เป็นเรื่องธรรมดา
แม้แต่ในประเทศที่ใช้ระบบประธานาธิบดี ที่แยกอำนาจนิติบัญญัติกับบริหารออกจากกันเด็ดขาด เช่น สหรัฐ อเมริกา ประธานาธิบดีไบเดนก็ต้องขอความร่วมมือจากสภาผู้แทนราษฎรอยู่เป็นประจำ แม้ฝ่ายค้านจะคุมเสียงข้างมาก ไบเดนจึงต้องขอให้ฝ่ายค้านอนุมัติ งบประมาณ เพื่อส่งอาวุธให้ยูเครนรบกับรัสเซีย
...
แต่ระบบรัฐสภาไทยกลายเป็นระบบที่พิสดาร ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจาก สส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมาก และไม่ได้เป็น สส. กลายเป็นนายกฯขาลอย เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล ก็ไม่ได้เป็น สส. ไม่มีสิทธิ์ร่วมประชุมสภาของระบบรัฐสภา.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม