“ชัยธวัช” นำทีมพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนรับฟังความเห็นประชาชน หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคม ประเด็นฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เชียงใหม่ พร้อมลงดูพื้นที่จริง

วันที่ 1 มีนาคม 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับปัญหาอันเนื่องมาจากฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันการแก้ไขทั้งในด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย และการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

นายชัยธวัช กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ฝุ่นเศรษฐกิจ พิษการเมือง : เศรษฐกิจการเมืองเรื่องฝุ่นควัน” ว่า คนไทยเริ่มสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 มาแล้วประมาณ 20 ปี แต่รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2562 ซึ่งปัญหาฝุ่นควันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือ ต้นทุนด้านสุขภาพ ที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 30,000 ราย มากกว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน, ยาเสพติดและฆาตกรรมรวมกัน โดยภาคเหนือมีผู้สูบบุหรี่น้อยกว่าภาคอื่น แต่ประชาชนกลับมีความเสี่ยงจากโรคมะเร็งปอด ปอดอุดตัน หอบหืด สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ 

...

หากย้อนกลับไปเมื่อการประกาศวาระฝุ่นแห่งชาติในปี 2562 พบว่ามีการตั้งตัวชี้วัดไว้ 3 ตัว แต่ล้มเหลวทุกตัวชี้วัดในตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้างในบางปี แต่ปีต่อมาก็กลับมาแย่กว่าเดิม อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ เมื่อย้อนดูสถิติจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านรอบไทย ก็พบตัวเลขสูงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในประเทศไทยไม่สามารถจัดการแค่ในประเทศไทยได้อย่างเดียวแน่นอน สำหรับปัญหาและความท้าทายเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 พบ 4 ประเด็น คือ

1. ระบบราชการรวมศูนย์แบบแยกส่วน : การบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการไม่เป็นจริง ต่างคน ต่างกระทรวง ต่างทำ อำนาจและงบประมาณกระจุก ไม่กระจาย ท้องถิ่นขาดเงิน จัดสรรงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงเป้า กฎระเบียบเป็นอุปสรรค

2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ : พบว่ามีการสั่งการ ตั้งเป้าหมาย แต่ไม่มีแผนรูปธรรมชัดเจนและต่อเนื่อง จัดการปัญหาภัยพิบัติแบบตามฤดูกาล ตั้งคณะกรรมการเดือนตุลาคม สลายตัวเดือนพฤษภาคม โดยไม่มีระบบจัดการปัญหาเชิงโครงสร้าง กระบวนการนิติบัญญัติออกกฎหมายล่าช้า เช่น กฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารพิษ (PRTR)

3. การจัดการทุนใหญ่ ที่ส่งผลทางตรงหรือทางอ้อมต่อต้นตอฝุ่นพิษข้ามแดน : ต้องมีมาตรการทางการค้า การทูต และข้อผูกพันในเชิงกฎหมาย และขยายความรับผิดชอบไปยังเอกชนรายใหญ่ทั้งผลผลิตอ้อยและข้าวโพด ไม่ใช่แค่การขอความร่วมมือ

4. ปัญหาการมองว่าประชาชนเป็นตัวปัญหาแล้วโยนภาระให้ชาวบ้าน : โดยภาครัฐจะต้องมีการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และต้องสร้างแรงจูงใจและทางเลือกใหม่ทางเศรษฐกิจด้วย

จากนั้นเป็นการเปิดเวทีเสวนา โดยวิทยากรในครั้งนี้ประกอบด้วย น.ส.ศนิวาร บัวบาน สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล, นายกัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม, นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคใหม่, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายปริเยศ อังกูรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ พรรคไทยสร้างไทย และ นายฐิติวุฒิ อรุณศิโรจน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน โดยมี นายเดชรัต สุขกำเนิด เป็นผู้ดำเนินรายการ กิจกรรมมีการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น พร้อมกับวิทยากรนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะสลับกันไปตลอดช่วงการสัมมนา

ก่อนที่เวลา 15.00 น. นายชัยธวัช ทีมวิทยากรและทีมงานจะลงพื้นที่ ณ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ไฟป่า ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะจากทางเจ้าหน้าที่ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป สำหรับการเสวนาครั้งนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ตามโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชนปี 2567 ซึ่งครั้งต่อไปจะเป็นการลงพื้นที่รับฟังความเดือดร้อนของประชาชนในภาคใต้.